posttoday

ศก.เริ่มขยับ ราคาน้ำมันเพิ่ม ส่งเงินเฟ้อติดลบน้อยลง

05 เมษายน 2564

"พาณิชย์" คาดเงินเฟ้อทั้งปีบวก 1.2% หลังจับสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากปัจจัยราคาพลังงานบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายดันประชาชนเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมีนาคมและไตรมาสที่ ปี 2564 ว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมี.ค. 2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยติดลบน้อยลง สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งเงินเฟ้อในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.08 เป็นการปรับลดน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.35 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก

นอกจากนี้ สินค้าน้ำมันพืช และเนื้อสุกรยังมีราคาสูง โดยเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีต้นทุนในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มอาหารสด ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยลดลงร้อยละ 1.06 ตามการลดลงของ ข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ปรับลดลงตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้

สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตสินค้า การจัดโปรโมชั่น และอุปสงค์ที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.09

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสแรก ปี 2564 เงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 0.53 (YoY) และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.12 (YOY) ซึ่งเงินเฟ้อที่หดตัวน้อยลงในเดือนนี้ นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่มีสัญญาณ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยด้านอุปสงค์ สะท้อนได้จากรายได้เกษตรกร ที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามราคาสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่ด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับดี รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสัญญาณเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมี.ค. 2564

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง การฉีดวัคซีนที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว โดยกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเติม การเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย จะส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และอุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ต้องปรับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในปีนี้มาอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 0.7-1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง