posttoday

ปตท.สผ.ลั่น!!! เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณไม่ได้ กระทบแผนผลิตก๊าซฯในไทย

04 มีนาคม 2564

ปตท.สผ. ย้ำยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ กระทบการผลิตก๊าซฯป้อนให้กับประเทศ ผิดหวังการเจรจากับเจ้าของสัมปทานเดิมไม่เป็นผล

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ชนะการประมูลในโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ปตท.สผ. ได้พยายามประสานงานกับผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณมาโดยตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อ ปตท.สผ. อีดี เข้าเป็นผู้ดำเนินการต่อในปี 2565

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เพื่อให้ ปตท.สผ. อีดีเข้าสำรวจพื้นที่เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการดังกล่าว แม้ว่า ปตท.สผ. อีดี จะพยายามสรุปการทำข้อตกลงเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยเข้าดำเนินการในพื้นที่ที่จะไม่กระทบต่อการผลิตของผู้รับสัมปทานปัจจุบัน รวมถึงยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันต้องการ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของ ปตท.สผ. อีดี เป็นต้น

“ปตท.สผ. มีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อเข้าพื้นที่โครงการ G1/61 มาโดยตลอด โดยอยากขอโอกาสที่จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ร่วมกับการประสานงานจากทางหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมองว่าความร่วมมืออย่างจริงใจจากทุกฝ่ายเป็นการทำโดยยึดผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งการที่ ปตท.สผ. ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเข้าพื้นที่ตามที่ผู้รับสัมปทานรายปัจจุบันเสนอมา ถือเป็นการแสดงความจริงใจในการพยายามที่จะรักษาความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่การเจรจาไม่เป็นผล ซึ่งการที่ปตท.สผ. ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ จะมีผลกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศ” นายพงศธร กล่าว

สำหรับปตท.สผ. อีดี ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเป็นผู้ดำเนินการโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ภายหลังสัญญาสัมปทานของทั้งสองแหล่งสิ้นสุดในปี 2565-2566 โดยในส่วนของแหล่งเอราวัณนั้น บริษัทได้เตรียมแผนการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญาไม่น้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน สำหรับโครงการ G1/61 นั้น ปตท.สผ. อีดี ได้ร่วมทุนกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับผู้รับสัมปทานรายเดิมของแหล่งก๊าซเอราวัณ คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยกำหนดเวลาหมดอายุสัญญาอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2565 โดยสาเหตุที่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ เพราะตกลงในเรื่องค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมไม่ได้ ซึ่งเชฟรอนได้ยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อหาความเหมาะสมของค่ารื้อถอน เนื่องจากวงเงินที่กระทรวงพลังงานประเมินออกมาสูงเกินไป