posttoday

พิษโควิดฉุดส่งออกอาหารไทย หล่นมาอยู่อันดับ13 ของโลก

18 กุมภาพันธ์ 2564

ส่งออกอาหารไทยวูบ หลังเผชิญปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งโควิด-ค่าเงินบาทแข็ง-ตู้คอนเทนเนอร์ ปี’63เหลือ 9.8 แสนล้านบาท จับตา แนวโน้มปีนี้ตั้งเป้าทะลุ 1 ล้านล้าน

นางอนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร  เปิดเผยว่า ในปี2563  การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 980,703 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 4.1  ส่งผลให้ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงเหลือร้อยละ 2.32 จากร้อยละ 2.49 ในปี 2562และทำให้ไทยหล่นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน

ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19  การแข็งค่าของเงินบาท  ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น คาดปี 2564 ยังต้องฝ่าอีกหลายด่านเพื่อเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 7.1 ที่มูลค่าส่งออก 1.05 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ในปี 2563 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงร้อยละ 6.5 เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะในกลุ่มมันสำปะหลัง อ้อย(น้ำตาล) และสับปะรด

สำหรับตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2563 มีเพียงประเทศจีน สหรัฐ และโอเชียเนีย 3 ตลาดหลักเท่านั้นที่มีอัตราขยายตัว โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 179,761 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.1  สหรัฐฯมีมูลค่า 118,718 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.2  ภมิภาคโอเชียเนียมีมูลค่า 33,056 ล้านบาท  ขยายตัว1.7ส่วนตลาดอื่นๆ หดตัวลง โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮารา(Sub-Saharan Africa) ลดลงร้อยละ 29.1 อาเซียนเดิม ลดลงร้อยละ 17.7 สหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 11.0  กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) ลดลงร้อยละ 11.3  และสหราชอาณาจักร ลดลงร้อยละ 12.1

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ18.3 รองลงมา ได้แก่ CLMV ร้อยละ 13.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ พบว่าสินค้าอาหารไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอย่างจีนและ CLMV มากขึ้น โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 32.2 เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 12.1 ในช่วง 10  ปีก่อน โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนและ CLMV เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19.6 และ 8.9 ต่อปี ตามลำดับ

นางอนงค์ กล่าวว่า นอกจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19แล้ว ยังมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 581,533 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.6 หรือมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 59.3 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีมูลค่าส่งออก 399,170 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.0 หรือมีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม

ทั้งนี้กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งสอดรับกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่บ้าน  ในขณะที่กลุ่มสินค้าหลักที่การส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว  ไก่   น้ำตาลทราย  แป้งมันสำปะหลัง   กุ้ง ผลิตภัณฑ์มะพร้าว  และสับปะรด

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1. ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน

2.ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และ สับปะรด  3. การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย