posttoday

ตั้งนิคมฯเอ็กโกระยอง ดึงลงทุนอีอีซี 1.6 หมื่นล.

11 มกราคม 2564

กนอ.จับมือ เอ็กโก ผุดนิคมฯแห่งที่ 62 รองรับลงทุนในอีอีซี กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เจาะกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve คาดเปิดให้บริการได้ปี'65 ด้านเอ็กโกหวังต่อยอดดึงลงทุนธุรกิจพลังงานอัจฉริยะในระยะยาว

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่ากนอ. และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)หรือ เอ็กโก ลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง ในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง (พื้นที่โรงไฟฟ้าระยองเดิม) บนพื้นที่ 621 ไร่ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี คาดจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 16,840 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 4,210 อัตรา ซึ่งเป็นโครงการที่สนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ของรัฐบาล โดยมุ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

การพัฒนาโครงการฯบริษัทฯได้ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial) โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ และ นำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ และใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ด้วย

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (เอ็กโก กรุ๊ป) กล่าวว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง เป็นหนึ่งในธุรกิจ Smart Energy Solution ที่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว ที่มีความพร้อมทุกด้าน รองรับความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาลงทุนและทำการวิจัย พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ตามแนวทางของนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืนในฐานะที่เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI)

ตั้งนิคมฯเอ็กโกระยอง ดึงลงทุนอีอีซี 1.6 หมื่นล.

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 2 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำดิบ สายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น รวมถึงมีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ และ อยู่ในบริเวณที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน

ขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้บริษัทในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและแบบ ลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) นอกจากนี้ บริษัทยังมองเห็นโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งจะเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ในอนาคตด้วย เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ Data Center ในพื้นที่โครงการ เป็นต้น

[