posttoday

ห่วงโควิดรอบใหม่ฉุดส่งออกไม่ฟื้น ชงแพจเกจอุ้มเอกชนลดผลกระทบ

05 มกราคม 2564

สรท.หวั่นโควิดรอบใหม่สกัดส่งออก ตั้งเป้าปีนี้โต 4% เสนอมาตรการเร่งด่วนรับมือ ยืดจ่ายภาษี ลดค่าน้ำค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคม เร่งแก้ตู้สินค้าขาดแคลน

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ย. 2563 มีมูลค่า 18,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 3.65% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 18,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.99% ส่งผลให้ เดือนพ.ย. 2563 เกินดุลการค้า 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับภาพรวมการส่งออก 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2563 มีมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.92% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังลดลง2.4% ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้สรท.ประเมินการส่งออกไทยในปี 2563 จะยังติดลบ 6-7% และคาดการณ์ ปี 2564  ช่วงไตรมาสแรกจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ภาพรวมจะสามารถขยายตัวได้ 3- 4% จากปัจจัยบวกของสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่1.การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ ส่งผลต่อกิจกรรมการผลิต จากการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และการหดตัวลงชองกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าทั่วโลก

ขณะที่แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากการระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงแปรรูปขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร เนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้าและจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียนกลับไปยังจีนและเวียดนามมาก รวมถึงการระบาดขอโควิดรอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางและทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ปัจจัยค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด(Monitoring List) โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ ขณะที่เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในบัญชี Currency manipulator ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศไทยและการอ่อนค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว

อย่างไรก็ตามทางสรท.ได้จัดทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อนำไปใช้เป็นมาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบโควิดรอบใหม่ ภายใน 2 เดือน ได้แก่ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19ระบาดในรอบแรกอาทิปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ)  

การปรับปรุงกฎเกณฑ์บางส่วนในการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอีมากขึ้น

นอกจากนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยเร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย ตลอดจนมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า