posttoday

'พาณิชย์'หวังปีนี้เงินเฟ้อพลิกบวก แม้เกิดโควิดรอบใหม่

05 มกราคม 2564

สนค.คาดเงินเฟ้อปีนี้เริ่มบวกไตรมาส2-3 จากแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐดันประชาชนเพิ่มการใช้จ่าย ยอมรับปัจจัยโควิดยังน่าเป็นห่วงกระทบเศรษฐกิจไทย

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยถึง สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธ.ค. 2563   ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.27%  ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ จากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าผ่านทางพิเศษ ปรับลดลงตามมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ ราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

การปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการได้ผลดีและได้รับความนิยมจากประชาชน รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์  ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ในรอบ 19 เดือน และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากสถานการณ์สามารถกลับเข้าสู่ปกติได้เร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลกำหนดได้

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ปรับตัวลดลง 0.85% เป็นไปตามกรอบที่ประเมินไว้ จะติดลบ 0.7-1.5 %  โดยมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อปี 2564  คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยในช่วงไตรมาสแรกยังมีโอกาสติดลบ แต่จะเริ่มกลับมาบวกได้ไตรมาส 2 และ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน อีกทั้งความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ปี 2564 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลคือการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่  จะทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายรวมถึงการท่องเที่ยวที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7 %(ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง