posttoday

ล้ำ!!! กฟผ. โชว์ หุ่นยนต์-นวัตกรรมอุตฯไฟฟ้า แห่งอนาคต

08 ธันวาคม 2563

กฟผ.ปักธงเข้าโหมด EGAT Smart Energy Solutions ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ลุยสร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง วางเป้าหมายต่อยอดเชิงธุรกิจปั้นสตาร์ทอัพ สู่ ยูนิคอร์นให้ประเทศ

นางวีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020ภายใต้แนวคิด "EGAT Smart Energy Solutions " ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานดังนั้นกฟผ.ในฐานะผู้จัดหาพลังงานให้กับประเทศ ก็ต้องปรับตัว มองหาธุรกิจใหม่ๆเพื่อรองรับการสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ได้วางแผนในระยะ 5-10 ปี จะเดินตามเป้าหมาย EGAT Smart Energy Solution โดยนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะที่หลากหลายมาใช้ในการพัฒนาทมุ่งตอบโจทย์ 5 มิติได้แก่ 1. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 2. ระบบส่งไฟฟ้า 3.ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ 4. พลังงานหมุนเวียน และ 5. ระบบรถไฟฟ้า(EV)และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งจะเป็นภาพในอนาตของการดำเนินงานของกฟผ.

ทั้งนี้ในมิติว่าด้วยพลังงานหมุนเวียนกฟผ.จะมุ่งเน้นการเสริมคุณภาพชีวิตของวิสาหกิจชุมชนด้วยโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาต้นแบบที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ประเภทชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 เมกะวัตต์ประเภทโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และยังให้ความสำคัญกับการ พัฒนาธุรกิจรองรับผู้ใช้ไฟหลังมิเตอร์เพื่อรองรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าภายในชุมชน

นายสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานด้วยการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะมาช่วยเสริมศักยภาพระบบผลิต – ส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยได้นำ 30 ผลงาน มาจัดแสดง อาทิ หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถไต่บนสายดินล่อฟ้า (Overhead Ground Wire : OHGW) ที่พาดอยู่บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมาพร้อมกับแขนกลสำหรับดึงหรือลากอุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือน (Vibration Damper) ที่ติดตั้งอยู่บนสาย OHGW ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ โดยไม่ต้องดับไฟระหว่างปฏิบัติงาน แก้ปัญหาสาย OHGW หลุดลงมาพาดสายส่งไฟฟ้าจนทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

ล้ำ!!! กฟผ. โชว์ หุ่นยนต์-นวัตกรรมอุตฯไฟฟ้า แห่งอนาคต

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัย 20C Discharge C-Rate & Pole Solid State Battery เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทย เพื่อช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น แสงแดด และลมมีเสถียรภาพมากขึ้น การพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นที่ 2 สำหรับตรวจสภาพภายในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ หุ่นยนต์มีแรงเคลื่อนที่มากขึ้น กล้องคมชัดยิ่งขึ้น มีอุปกรณ์เสริมสามารถหยิบวัตถุแปลกปลอมที่ตกค้างภายในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกได้

รวมถึงรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality : AR) การประยุกต์ใช้พลาสมาเจ็ตแบบหลายรูที่ความดันบรรยากาศ สำหรับปรับปรุงผิวเมล็ดพันธุ์ โดยนำหัวกำเนิดพลาสมาเจ็ตแบบหลายรูมาช่วยเพิ่มอัตราการงอกและการเติบโตของต้นอ่อนให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยวิธีไม่ใช้สารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทาง ภายใต้แบรนด์ Wallbox โดย กฟผ. ร่วมกับบริษัท Wallbox Chargers SL. ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศสเปนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่มีขนาดเล็กสำหรับติดตั้งภายในอาคารหรือที่อยู่อาศัย โดยจะนำเข้าอุปกรณ์ชาร์จฯ มาให้บริการในไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกฟผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ของ Wallbox เพียงรายเดียวในประเทศไทย ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ออกแบบระบบไฟฟ้า ติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนบริการหลังการขายโดยทีมช่างของ กฟผ. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความมั่นใจในระบบความปลอดภัย

นายสมชาย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยยังไม่มีธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เป็นระดับยูนิคอร์น(Unicorn ) หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกฟผ.มีเป้าหมายที่จะมีส่วนในการเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างยูนิคอร์นให้ไทยเกิดขึ้นเนื่องจากงานวิจัยและพัฒนาของไทยมีจำนวนมากแต่ยังขาดการบริหารจัดการหรือการมีผู้กำกับที่ดี"ล่าสุดกฟผ.ได้เปิดตัวอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทาง ภายใต้แบรนด์ Wallbox โดย ร่วมกับบริษัท Wallbox Chargers SL. ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของสเปนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่มีขนาดเล็กสำหรับติดตั้งภายในอาคารหรือที่อยู่อาศัย โดยจะนำเข้าอุปกรณ์ชาร์จฯ มาให้บริการในไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง กฟผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ของ Wallbox เพียงรายเดียวในประเทศไทย"นายสมชายกล่าว