posttoday

กสทช. มองอนาคต “ไทย” ไปสู่ Asia Medical Hub เร็วขึ้น

07 ธันวาคม 2563

กสทช. บอกอุตฯการแพทย์ครบวงจร ของไทย มีความพร้อมจากฐานรากโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมแข็งแกร็ง หนุนสู่ศูนย์กลางทางแพทย์ในภูมิภาคเอเชียฯ ได้ก่อนเป้าหมายภายใน 10  ปี

กสทช. มองอนาคต “ไทย” ไปสู่ Asia Medical Hub เร็วขึ้น

นางสาวธีตานันตร์ รัตนแสนยานุภาพ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา Webinar หัวข้อ  “Thailand Medical Hub”  ศูนย์กลางใหม่ เศรษฐกิจประเทศไทย” จัดโดย กลุ่มบางกอกโพสต์ หอการค้าไทย และ สำนักงาน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) TCEB เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่าบทบาทของ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมในการวางรากฐานรากโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย “ไทยแลนด์ 4.0” การพัฒนาเศรษฐิกิจดิจิทัล ตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐ วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Asia Pacific Medical Hub และคาดว่าจากความพร้อมของเทคโนโลยีต่างๆที่เริ่มนำมาใช้อย่างต่อเนื่องของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆของไทยในปัจจุบัน จะเป็นตัวเร่งให้เกิดได้เร็วขึ้นจากแผนเดิมที่วางไว้ภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะจากการนำเทคโนโลยี AI การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ฯลฯ  มาใช้ร่วมกับทักษะบริการทางการแพทย์ เป็นจำนวนมากในกลุ่มโรงพยาบาล ชั้นนำหลายแห่งในปัจจุบัน

หนุน “ไทย” สู่ยุค “สมาร์ท เฮลทธ์”

สำหรับการเข้ามาของเทคโนโลยี ดิสรัปชัน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วง 2-3  ปีทื่ผ่านมานั้น มองว่าส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้าพื้นฐานเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ อย่างรวดเร็วมากกว่าเป็นอุปสรรค ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของ กสทช. ต่อการออกแบบนโยบายเชิงกลยุทธ์กิจการโทรคมนาคม เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ (Eco System) ให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในด้าน Content Providers ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ไทย ที่จะเติบโตไปพร้อมกันในอนาคต

“อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยจากนี้ไป สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลต่างๆจากการเก็บรวบรวมเพื่อนำมาวิเคราะห์ ผ่านเทคโนโลยี 5G เอไอ คลาวด์ คอมพิวติง ต่างๆ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าใ้ห้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร ได้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Value Base Technology ในอนาคต โดยเฉพาะการนำ5G มาใช้ในอุตฯทางการแพทย์ในรูปแบบ สมาร์ท เฮลทธ์ ที่มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้ถึง 10 กิ๊กกะไบท์ต่อวินาที”  นางสาวธีตานันตร์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเทคโนโลยี5G ของไทย ที่ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี5G ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และในขณะนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(Operator) อยู่ระหว่างการติดตั้งเพื่อนำโครงข่ายออกมาใช้ (Rollout) ในทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงการประมูลโครงข่ายฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)เพื่อให้สามารถบริการเชิงพาณิชย์ได้ด้วย โดยคาดว่าพร้อมให้บริการได้เป็นไปตามแผนในต้นปี 2564

สร้าง “อีโค ซิสเต็ม” เชื่อมเศรษฐกิจดิจิทัล

นางสาวธีตานันตร์ กล่าวว่าบทบาทของกสทช. ในฐานะหน่วยงานสังกัดภาครัฐ มีความพร้อมให้การสนับสนุนเชิงนโยบายให้กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในกิจการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อการลงทุนกิจการด้านโทรคมนาคมในประเทศ โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุน พร้อมศึกษาโมเดลต่างๆจากต่างประเทศ ว่ามีการลงทุนในด้านใดบ้าง ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ส่งเสริม ภาคบริการสาธารณะสุขอัจฉริยะ (Smart Healthcare) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ไปสู่การดำเนินโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0  ที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสุดต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาแพล็ตฟอร์มต่างๆ ที่จะเป็นกลไกในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ 5G, IoT, BiG Data เป็นต้น เพื่อเชื่อมโอกาสและขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมธุรกิจบริการทางการแพทย์ครบวงจร ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน ที่จะได้ประโยขน์ พร้อมกัน