posttoday

รัฐควัก 2.8 หมื่นล้านประกันรายได้ชาวนาเพิ่ม

01 ธันวาคม 2563

ครม.เคาะโครงการประกันรายได้ชาวนา เพิ่มอีก 2.8 หมื่นล้าน นายกฯกำชับเร่งประชาสัมพันธ์ 3 มาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกรักษาเสถียรภาพ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 28,711.29 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มวงเงินจากเดิมที่ ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 จำนวน 18,096.06 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 ใช้งบประมาณรวม 46,807.35 ล้านบาท

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยในงวดแรก  จนถึงวันที่ 26 พ.ย.ครบถ้วนแล้ว และงวดที่ 2 บางส่วน สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวถึงวันที่ 14 พ.ย.2563 จำนวน 1,429,135 ครัวเรือน เป็นเงิน 15,260.55 ล้านบาท คิดเป็น 86.3% ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม. เคยอนุมัติไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ์ สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15 – 29 พ.ย.2563 (งวดที่ 2 บางส่วน และงวดที่ 3 – 4)  อีกจำนวน 2,905,043 ครัวเรือน เป็นเงิน 26,605.61 ล้านบาท และเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พ.ย.2563 (งวดที่ 5- 30) อีก 487,370 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 2,894,905 ตัน คาดจะใช้วงเงิน 3,888.82 ล้านบาท

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้มีการประชาสัมพันธ์และการดำเนินมาตรการคู่ขนาน ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 รวม 3 โครงการคือ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63-29 ก.พ.64 

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ต.ค. 63 – 30 ก.ย. 64  และ 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63 – 31 มี.ค. 64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้ จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก