posttoday

ดีเดย์ ก.พ ปี'64 แข่งประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์

16 พฤศจิกายน 2563

กพช.ไฟเขียวเอกชนยื่นแข่งประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ดึงชุมชนถือหุ้น 10% เคาะอัตรารับซื้อไฟฟ้า ชีวมวล-ชีวภาพ 4.2636 - 4.8482 บาทต่อหน่วย ระยะ20ปี คาดเปิดยื่นโครงการได้เดือนก.พ.ปีหน้า

นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา คาดเริ่มขายซองเอกสารประมูลต้นเดือนม.ค. 2564 และเปิดให้ยื่นโครงการได้ในเดือนก.พ. ซึ่งจะสามารถสรุปผลการพิจารณาได้ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ภาคเอกชนจะเป็นผู้เสนอโครงการ โดยมีการแบ่งปันผลประโยชน์ ให้กับชุมชน เช่น การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งจะเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลา 20 ปี กรณี ชีวมวล มากว่า 3 เมกะวัตต์ กำหนดเพดานไว้ 4.2636 บาทต่อหน่วย และน้อยกว่า 3 เมกวัตต์ อยู่ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย โดยมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ขณะที่ก๊าซชีวภาพ กรณีเป็นพืชพลังงานผสมน้ำเสียไม่เกิน 25% อัตรารับซื้อ 4.2769 บาทต่อหน่วย มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าไม่กิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน

"เหตุผลที่ต้องให้เวลา 36 เดือนในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เนื่องจากการหาพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีพื้นที่ใหม่สำหรับเพาะปลูกพืชพลังงานมาป้อนโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการปลูกพืช และเกษตรกรต้องได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ หากเทียบการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกพืช 1,000 ไร่ ถ้า 3 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ เท่ากับ 3,000 ไร่ ดังนั้น เกษตรกต้องคุ้นชินกับการปลูกพืช และต้องได้ผลผลิตตามเป้าหมาย ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย"นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช.ยังได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 ในวงเงิน 6,500 ล้านบาท โดยแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กรอบวงเงิน 6,305 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 200 ล้านบาท 2. กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จำนวน 500 ล้านบาท 3. กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ จำนวน 355 ล้านบาท 4. กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 200 ล้านบาท

5. กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 450 ล้านบาท 6. กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SMEs) อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ จำนวน 2,200 ล้านบาท 7. กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 2,400 ล้านบาท และแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. จำนวน 195 ล้านบาท

ทั้งนี้กรณีการใช้งบในกลุ่มงานของเศรษฐกิจฐานราก พยายามจะกระจายให้ได้ ทั้ง 76 จังหวัด ผ่านคณกรรมการบริหารระดับจังหวัด ที่จะร่วมกับหน่วยงานพิจารณาคัดเลือกโครงการ ที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละโครงการจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การใช้เงิน เพื่อให้เกิดการใช้งบที่มีประสิทธิภาพ