posttoday

อาหารสด-พืชผักราคาดี ดันเงินเฟ้อเดือนต.ค.สัญญาณดี

05 พฤศจิกายน 2563

‘พาณิชย์’ ชี้เงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลง ตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับสูงขึ้น จากความต้องการที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งปีเงินเฟ้อติดลบ 0.85%

น.ส.พิม์ชนก   วอนขอพร  ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)   เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนต.ค.  ลดลงร้อยละ 0.50 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.70  โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น ตามความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์  รวมถึงผลผลิตพืชผักได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานเริ่มขยับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน

ทั้งนี้เงินเฟ้อ เดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศ    โดยด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ผักสด สุกร และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี 

นอกจากนั้นปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง กลับมาเป็นบวกอีกในรอบ 16 เดือน และ 17 เดือน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย.มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะหดตัวในอัตราที่น้อยลง ติดลบเฉลี่ย ร้อยละ 0.85 ตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบในช่วงที่เหลือของปี

ขณะเดียวกันยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)