posttoday

ลุ้นยอดขอลงทุนปีนี้แตะ 3 แสนล้าน โควิดหนุนกิจการแพทย์คึกคัก

04 พฤศจิกายน 2563

บีโอไอ ชี้ 9 เดือนเอกชนยื่นขอลงทุน 2.23 แสนล้านบาท ผลจากโควิดกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมแพทย์พุ่ง 132% ขณะที่บอร์ดบีโอไอไฟเขียว 6 โครงการลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,098 โครงการ  มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 223,720 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15%  โดยคาดว่าคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท  

ทั้งนี้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ 58% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีจำนวน 556 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 128,980 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 26,880 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 19,980 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 14,710 ล้านบาท

สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงมีจำนวนโครงการและมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132%  มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม แต่ในบางอุตสาหกรรมมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค” น.ส.ดวงใจกล่าว

ลุ้นยอดขอลงทุนปีนี้แตะ 3 แสนล้าน โควิดหนุนกิจการแพทย์คึกคัก

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 657 โครงการ ลดลง 1 % โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน จำนวน 129 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 21,237 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ จำนวน 62 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 17,514 ล้านบาท

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ )ได้ มีมติอนุมัติ การลงทุน 6 โครงการใหญ่  วงเงิน 35,687.43 ล้านบาท ได้แก่ 1. บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด กิจการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อม เงินลงทุน 5,071.84 ล้านบาท  

2. บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เงินลงทุน 3,247 ล้านบาท    3. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท  

4. บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท   5. บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เงินลงทุน 11,300 ล้านบาท   และ6. บริษัท บางกอก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 4,668.59 ล้านบาท