posttoday

สศก. โชว์ผล Zoning by Agri-Map เคลมเพิ่มรายได้จริงเกษตรกร

31 ตุลาคม 2563

สศก. ตามผลงานโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรฯ ปรับปรุงพื้นที่ตามความเหมาะสม ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ข้าว-ยางพารา

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตโดยเฉพาะสินค้าข้าวและยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามแผนที่เกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จัดทำแผนที่แสดงชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นทางเลือก โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนสำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิต

ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม จำนวน 138,595 ไร่ เป็นการทำประมง หญ้าเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจอื่น เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง รวมถึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเกษตรผสมผสาน โดยในฤดูการผลิตปี 2562/63 เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมอื่นข้างต้น ร้อยละ 42 ได้รับผลผลิต เช่น อ้อยโรงงาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดแล้ว ร้อยละ 21 ได้ผลผลิตบางส่วน อีกร้อยละ 37 ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากอยู่ในระหว่าง รอการเก็บเกี่ยว และเป็นไม้ผลไม้ยืนต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 89 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรร้อยละ 28 ต้องการขยายพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 5 ไร่

ด้านการประเมินผลทางเศรษฐกิจ พบว่า ทุกชนิดสินค้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว โดยผลตอบแทนสุทธิการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สูงกว่า 2,696 บาท/ไร่/ปี อ้อยโรงงาน สูงกว่า 1,408 บาท/ไร่/ปี เกษตรผสมผสาน สูงกว่า 643 บาท/ไร่/ปี ประมง สูงกว่า 286 บาท/ไร่/ปี และหญ้าเลี้ยงสัตว์ สูงกว่า 285 บาท/ไร่/ปี

ทั้งนี้ ในภาพรวมเกษตรกร พึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน ไม่ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนด้วยตนเองมากนัก หลังจากได้รับผลผลิตแล้วช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่ทำประมงและเกษตรผสมผสานสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการในระยะต่อไปควรดำเนินกิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดความรู้สำหรับการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมทั้งผลักดันให้สหกรณ์เข้ามามีบทบาท ในการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนการผลิตตามพื้นที่ Agri-Map สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่