posttoday

ดัชนีภาคอุตฯโตเป็นเดือนที่ 5 เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ดึงลงทุน S-Curve

28 ตุลาคม 2563

จับสัญญาณ ดัชนี MPI เดือนก.ย. พุ่ง 3.25% สะท้อนภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้่นตัวต่อเนื่อง ย้ำเศรษฐกิจไทยต้องให้ความสำคัญการบริโภคภายใน ชูจุดเด่นสกัดโควิดดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 94.71 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.25% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 63.07 จากเดิมที่ระดับ 60.86 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 91.22 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.73% จากไตรมาสที่ 2 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้กับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ในขณะที่ต่างประเทศยังคงน่ากังวลจากโควิด-19 รอบสองโดยเฉพาะในโซนยุโรป ดังนั้นไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายประเทศผ่านโครงการคนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการช้อปดีมีคืนเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศในช่วงสิ้นปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีภาคอุตฯโตเป็นเดือนที่ 5 เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ดึงลงทุน S-Curve

นอกจากนี้การออกวีซ่าพิเศษให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นการดึงให้นักลงทุนสามารถเข้ามายังประเทศไทยได้ นับเป็นโอกาสที่ประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งทางด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วโลก

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.ย. สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัว

ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.4 % อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.50% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกันยายนมาอยู่ที่ระดับ 76.98 จากระดับ 59.81 ในเดือนก่อน โดยมีความต้องการจากทั้งตลาดในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.10% จากเดือนส.ค. และตลาดส่งออกขยายตัว 11.40% นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.20 % เนื่องจากในปีก่อนได้มีการหยุดผลิตเพื่อย้ายโรงงาน ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ด้านเครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.07 % จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ส่วนเครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนอาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.18% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลา เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับในปีก่อนเกิดภาวะภัยแล้งทำให้มีการเลี้ยงปลาน้อยกว่าในปีนี้