posttoday

Social Platform เครื่องมือปลุก "ม๊อบ" ยุคดิจิทัล

20 ตุลาคม 2563

จำนวน 160 คาแรกเตอรฺ์ บนโซเชียล แพล็ตฟอร์ม ทีถูกส่งต่อกระจายออกไปในเสี้ยววินาที แต่ทรงพลังเหลือหลาย ด้วยสามารถเข้ายึดพื้นที่ความคิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้มารวมตัวกันได้บนท้องถนน

แม้จากการแถลงสรุปตัวเลข “จำนวนเนื้อหา” ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายตามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติมปี 2560 และ พ.ร.ก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวบรวมไว้ในช่วง 1 สัปดาห์แห่งความร้อนแรงของสถานการณ์ชุมนุม (วันที่ 13 – 18 ต.ค. 2563) จำนวน 324,990 เรื่องนั้น

สัดส่วนหลักจะเกิดขึ้นในเฟซบุ๊กถึง 245,678 เรื่อง ตามมาด้วยทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง

แต่หากมีการเจาะลึกลงไปถึงแก่นของ “อิทธิพล” ที่ส่งต่อให้พลังม็อบซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่คือ “เยาวชน” เกาะกลุ่มและเหนียวแน่นในความเชื่อความคิดที่ว่า “ต้องออกมาแสดงพลัง” ก็คือ ข้อความสั้นๆ แค่ไม่เกิน 160 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ ที่แพร่กระจายกันอยู่ในโลกของชาวทวิตภพนั่นเอง

ด้วยประโยคสั้น-โดน-เข้าปาก ที่ติดแฮชแท็ก กระตุ้นความฮึกเหิมได้ง่าย อ่านจบเร็ว รีทวีตไว กระจายข้อความออกไปในเสี้ยววินาที

จากม็อบมือถือขยับสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

ปรากฏการณ์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการต่อเนื่องจาก “ม็อบมือถือ” ซึ่งเป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นจากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเมื่อปี 2535 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว เพราะเป็นม็อบที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสาร ชักชวน แจ้งข่าวกัน (ตามศักยภาพของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ณ เวลานั้นที่มีความสามารถแค่การโทรเข้าออก)

และเมื่อวิวัฒนาการของเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้รูปแบบการใช้งาน “มือถือ” ของชาวม็อบในยุคต่อๆ มาก็หลากหลายและทวีพลังในการระดมมวลชนตามไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงวันนี้จำนวนประชากรออนไลน์/โซเชียล ครอบครองสัดส่วนเกินครึ่งโลกจริงใบนี้

ช่วงต้นปี 2563 ได้มีการเผยแพร่รายงานประจำปี “Digital 2020” ที่จัดทำร่วมกันระหว่าง We Are Social และ Hootsuite ระบุว่าปัจจุบันประชากรโลกเกือบ 60% กลายเป็นชาวออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยทั่วโลกมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 4,500 ล้านคน ขณะที่ถ้าเจาะเฉพาะการใช้งานโซเชียลมีเดียก็มีจำนวนสูงถึง 3,800 ล้านคน และยังมีแนวโน้มขยายจำนวนครอบครองพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของโลกใบจริงก่อนสิ้นปีนี้แน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย "ฮอร์โมน" ขุมพลังหลักของมวลชนชาวม็อบ 3 นิ้ว ซึ่งเกิดและเติบโตมาพร้อมความคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนจอสัมผัส (ที่เริ่มแพร่หลายความนิยมใช้งานทั่วโลกเมื่อปี 2550) และแอพโซเชียลที่ร้อยรัดอยู่รอบตัว (ถ้าขอนับจากเฟซบุ๊กที่สมาชิกเยอะสุด ก็จะเริ่มตั้งแต่ปี 2547 แต่เริ่มเฟื่องฟูจริงก็ด้วยอานิสงค์มือถือทัชสกรีนหลังปี 2550 เป็นต้นมา) ซึ่งทำให้สะดวกในการติดต่อสื่อสาร แพร่กระจายความคิดไปสู่คนวงกว้าง

ด้วยหลักการง่ายๆ คือ เริ่มจากกลุ่มคอมมูนิตี้เดียวกัน แชร์ต่อ ขยายการเข้าถึง และด้วยปัจจัยทางหลักจิตวิทยา (เห็นถี่ๆ ได้ยินซ้ำๆ) ผนวกกับความคิด/ความเชื่อส่วนตัวที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทำให้เกิด “ไวรัล” และแรงจูงใจได้อย่างง่ายดายในการชักชวนระดมพลมาทำกิจกรรมกลุ่ม(ใหญ่มาก)

จนนำมาซึ่งความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ม็อบ 3 นิ้วในประเทศไทย ณ เวลานี้ คือการใช้ยุทธศาสตร์สงครามโซเชียล (Social War) เต็มรูปแบบ ระหว่างคนรุ่นเก่า กับเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Gen-Social การพูดคุยด้วยภาษาเดียวกันในโซเชียลผ่านเครือข่ายออนไลน์ จึงนำมาสู่การชวนกันมาสร้างประสบการณ์ร่วมกัน “บนถนน” นอกบ้านเพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองเชื่อ, เพื่อนชาวโซเชียลในคอมมูนิตี้เดียวกันเชื่อ

มีข้อมูลน่าสนใจจาก The Flight 19 Agency ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2563 จัดทำสรุปข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักๆ ของคนไทย ครอบคลุม เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, ยูทูบ, ติ๊กต๊อก และไลน์ ทั้งจำนวนผู้ใช้งาน กลุ่มอายุหลัก และสัดส่วนระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในแต่ละแพลตฟอร์มไว้ดังภาพประกอบต่อไปนี้

Social Platform เครื่องมือปลุก "ม๊อบ" ยุคดิจิทัล

ทำไม? มีพลังและจุดชนวนสู่ม๊อบมวลชนจริงบนถนน

หลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวม็อบ น่าจะสังเกตเห็น “จุดร่วม” ระหว่างม็อบฮ่องกง และม็อบ 3 นิ้วในประเทศไทย จึงไม่แปลกใจที่มีนักวิเคราะห์การเมืองหลายท่าน/หลายกลุ่ม เชื่อมโยงวิถีแห่งการสร้างรูปแบบการชุมนุมแบบดาวกระจาย ประกาศให้ทุกคนเป็นแกนนำ ไม่ต้องยึดโยงกับแกนนำ(ตัวจริง) จัดรูปแบบกิจกรรมการชุมนุมตามเสียงโหวตจากสมาชิกชาวม็อบผ่านโซเชียล โดยเปรียบเทียบกับหลักการของเทคโนโลยีบล็อกเชน

ทั้งนี้ ขออนุญาตหยิบยกคำอธิบายจากบทความหนึ่งในเว็บไซต์ของ Ahead Asia (https://ahead.asia/2020/08/28/blockchain-pop-culture-touchscreen-native/)ที่ช่วยให้เข้าใจได้อย่างเห็นภาพ ดังนี้ “การขับเคลื่อนของผู้เข้าร่วม ตั้งอยู่บนแนวคิดกระจายอำนาจ (decentralized) ที่เป็นหลักการของเทคโนโลยีบล็อกเชน ด้วยการแบ่ง/ส่งต่ออำนาจการตัดสินใจไปสู่คนหมู่มาก เพราะเมื่อทุกคนเป็นศูนย์กลาง และมีอำนาจในการตัดสินใจแต่ละเรื่องด้วยตัวเอง การตรวจสอบระหว่างกันก็จะทำได้ง่ายกว่า และเห็นภาพชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร”

แนวคิดนี้สร้างให้เกิดรูปแบบการชุมนุมโดยไม่มีแกนนำเป็นตัวเป็นตน (Leaderless Movements) แต่รวบรวมผู้คนจำนวนมากได้ เพราะมีเป้าหมายและความเชื่อบางอย่างที่ตรงกัน และในอีกแง่มุมหนึ่ง การกระจายอำนาจเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมีอำนาจในมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการปิดจุดอ่อนจากรูปแบบการชุมนุมประท้วงเดิมๆ แบบรวมศูนย์อำนาจ (centralized) ยึดโยงอยู่กับแกนนำหลัก เมื่อเกิดความผิดพลาด ก็จะกระทบเครือข่ายการชุมนุมทั้งหมด

ปิดแพล็ตฟอร์มโซเชียลแล้ว ไปแอปฯไหนต่อ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ กระแสกดดันแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยคำสั่งศาลตามกฎหมายประเทศไทย เพื่อให้ร่วมมือปิดกั้น/ลบเนื้อหาผิดละเมิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการหา “แอปติดต่อสื่อสาร” ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้(นัด)ชุมนุม ดังนั้นในเร็วๆ นึ้คนไทยคงจะได้คุ้นเคยกับชื่อ Telegram (เทเลแกรม) แอปยอดนิยมของชาวม็อบฮ่องกง และจะเป็นอีกครั้งที่ Telegram ส่งผ่านความแรงจากรัสเซีย(ประเทศต้นกำเนิด) เพื่อเข้ามา landing ที่เมืองไทย

สำหรับ Telegram เป็นแอปพลิเคชันรับ-ส่งข้อความ มีลักษณะใกล้เคียงกับแอปพลิเคชั่นชื่อดังอย่าง WhatsApp ถือกำเนิดขึ้นที่รัสเซีย จุดเด่นคือ บริษัทผู้พัฒนายืนยันว่าจะไม่มีการอ่านข้อความของผู้ใช้งาน ไม่เก็บข้อมูลส่วนตัว/ข้อมูลการสนทนา ไม่มีนโยบายส่งข้อมูลให้ใครหรือรัฐบาลประเทศไหน ความปลอดภัยสูงเพราะเป็นโปรแกรมส่งข้อความแบบเข้ารหัสสองทาง ดังนั้นบริษัทผู้พัฒนาก็ไม่สามารถรู้ข้อความระหว่างผู้ส่งและผู้รับได้แน่นอน

แอปนี้โด่งดังในหมู่นักเคลื่อนไหว จากการเป็นที่ไว้วางใจของม็อบฮ่องกง ผู้ชุมนุมซึ่งเติบโตและคุ้นเคยมากับดิจิทัล เลือกใช้แอปนี้ ในการส่งข้อความคุยกัน เพราะเชื่อว่ามีความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่า และมีจำนวนผู้เข้าร่วมพูดคุยกันในแชทได้มากกว่า Whatsapp ซึ่งเป็นแอปสนทนาที่ชาวฮ่องกงนิยมใช้งาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 กลุ่มเยาวชนปลดแอกแจ้งเปลี่ยนแปลงการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการชุมนุมมาผ่านช่องทาง Telegram เพื่อรับมือกระแสข่าวสั่งปิดเฟซบุ๊กเพจของกลุ่ม และมียอดแอดเข้าเป็นสมาชิกในแอปกลุ่มสูงถึง 160,000 แอคเคาน์

ช่วงบ่ายวันต่อมา ก็มีหนังสือคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 11/2563 ให้ กสทช.ระงับการการใช้แอปพลิเคชัน Telegram ซึ่งชาวเยาวชนปลดแอกก็ไม่หวั่นไหว และแย้มๆ ผ่านหน้าเพจว่าจะมีแอปใหม่รองรับการนัดหมายชุมนุมต่อแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาของวันที่ 19 ต.ค. 63 ผู้เขียนได้ลองเข้าไปใช้งาน Telegram ติดตามข่าวสารอัพเดทเกี่ยวการชุมนุม พบว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ก็ยังไม่มีการปิดกั้นการเข้าถึงหรือปิดเพจ

ส่วนบทสรุปการชุมนุม ม๊อบ โซเชีบล ในครั้งนี้ ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าฝั่งไหน?!? จะโดนแกงก่อนกัน ด้วยแต่ละวันเป็นการดำเนืนกิจกรรม ที่มีการสับขาหลอกเสมอ