posttoday

"บิ๊กตู่"ไม่หยุดพัฒนา'อีอีซี' โชว์ตัวเลขลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้าน

05 ตุลาคม 2563

นายกฯนั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดอีอีซี สั่งศึกษาเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ สร้างสะพานไทย ขนสินค้าฝั่งอ่าวไทยขึ้นบก กระจายไปทั่วประเทศ ยืนยันอีอีซียังเดินหน้าต่อ กางตัวเลขรัฐ-เอกชนขนเงินลงทุนพื้นที่อีอีซี กว่า 1.5 ล้านล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีอีซี ปัจจุบันยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าหลายโครงการ เกิดการลงทุนจากงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงสร้างพื้นฐานรัฐร่วมเอกชน (PPP) และการออกบัตรส่งเสริม โดยยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อเนื่อง แม้จะเจอกับสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้นายกฯได้สั่งให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)กำกับการบูรณาการโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงคมนาคม และสกพอ. ร่วมกันศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศและประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย3 โครงการได้แก่ 1. โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสกพอ. จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปิดอร์  มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู)ต่อปี

2. โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land bridge) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา) โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบ มะละกา และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจ.ชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวง Motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

3. โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซี ไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง

"บิ๊กตู่"ไม่หยุดพัฒนา'อีอีซี' โชว์ตัวเลขลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้าน

อย่างไรก็ตามการลงทุนในอีอีซี ล่าสุดมีมูลค่าสูงถึง 1,582,698 ล้านบาท (ณ กันยายน 2563) แบ่งเป็น 1.งบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (โครงสร้างพื้นฐาน) อนุมัติแล้ว 67,687 ล้านบาท มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2561 – 2564 มูลค่า 50,757 ล้านบาท และเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ปี 2565 – 2567 มูลค่า 16,930 ล้านบาท

2.โครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน หรือ PPP ได้ผู้ลงทุน 3 โครงการ ทำสัญญาแล้วรวม 527,603 ล้านบาท โดยจะมีการลงทุนในปี 2563 มูลค่า 2,565 ล้านบาท ในปี 2564 มูลค่า 55,783 ล้านบาท และลงทุนตลอดระยะเวลาโครงการ 469,255 ล้านบาท และ 3.ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ตั้งแต่ปี 2560 – เดือนมิ.ย. 2563 รวมมูลค่าลงทุน 987,408 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า ภาวะการลงทุนอีอีซี ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ อาหาร การแพทย์ ธุรกิจโลจิสติก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีโครงการยื่นขอส่งเสริมลงทุนกับบีโอไอ 8 เดือนแรก 277 โครงการมูลค่า 1 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน แยกเป็นเงินลงทุนจากต่างประเทศ 62,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 60% ของการลงทุนในอีอีซี ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีเงินลงทุนมากสุด รองลงมาคือ จีน เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน และ สิงคโปร์