posttoday

ราคาน้ำมันฉุดเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเดือนก.ย.ลดลง 0.7%

05 ตุลาคม 2563

"พาณิชย์"ลุ้นไตรมาส 4 เงินเฟ้อดีขึ้น หลังรัฐอัดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจ้างงาน ขณะที่ปัจจัยสินค้าเกษตรราคาดีเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อขยับ โดยปีนี้ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ติดลบ 1.5%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.ย. 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลง 0.70% (YoY) โดยมีปัจจัยจากสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (เอฟที) ในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2563 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน

ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณผลผลิตเป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป ที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น0.25 % (YoY)

ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยด้านอุปทานสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนก.ย. 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 1.3% (YoY) ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลง 1.7% ได้แก่ สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเครื่องบิน) กลุ่มเคมีภัณฑ์ (โซดาไฟ เม็ดพลาสติก ปุ๋ยเคมีผสม) กลุ่มเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (กระดาษพิมพ์เขียน เยื่อกระดาษ) กลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์ (เหล็กแผ่น ลวดเหล็ก บรรจุภัณฑ์โลหะ) กลุ่มสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายฝ้าย) กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และอิเล็กทรอนิกส์ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 17.6 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ตะกั่ว ตามภาวะราคาตลาดโลก

"ภาพรวมเงินเฟ้อยังทรงตัว ไม่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ยกเว้นภาคเกษตรที่ราคาสินค้าดีขึ้นทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา ด้านภาคอุตสาหกรรม หากตัดเรื่องราคาน้ำมันออกไปยังไม่มีสัญญาณฟื้นชัดเจน โดย 9 เดือนแรก เงินเฟ้อติดลบ 0.99% ซึ่งคาดการณ์ไตรมาาส4 เงินเฟ้อน่าจะดีขึ้นหรือติดลบน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง และยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายมีความท้าทายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาก"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ร้อยละ -1.5 ถึง -0.7 (ค่ากลางอยู่ที่ -1.1)-