posttoday

รัฐบาลถกแจกเงินเพิ่มอีกสัปดาห์หน้า

02 ตุลาคม 2563

รัฐบาลส่งซิก โหลดแอป "เป๋าตัง" รอรัฐบาลแจกเงินเพิ่ม ซึ่ง ศบศ. จะหารือสรุปสัปดาห์หน้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แนะทุกคนโหลด แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ของธนาคารกรุงไทย เพื่อรองรับนโยบายภาครัฐที่จะช่วยเหลือฟื้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางด้านภาวะเศรษฐกิจจากการระบาดของ โควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก และคนไทยได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยต้องตรวจสอบได้และเข้าถึงประชาชนได้ จึงมีความเชื่อเหลือจะผ่าน แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" เป็นหลัก

"แนะนำให้ทุกคน ดาวน์โหลด แอป"เป๋าตัง"ไว้ ในขณะที่ร้านค้าใดๆ ที่ยังไม่สามารถรับการจ่ายเงินผ่านแอปนี้ได้ ก็ควรจะติดต่อธนาคารพาณิชย์ เพื่อขอใช้บริการการเข้าถึงเน็ตแบงก์ เพื่อประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการที่จะมีการช่วยเหลือต่อเนื่อง" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ใน การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 หรือ ศบศ. ในวันที่ 7 ต.ค. 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 เพิ่มเติมในรูปแบบร่วมจ่าย Co-pay สำหรับผู้เสียภาษีที่มีกำลังซื้อ โดยมีการปรับรูปแบบ จากโครงการ "ชิมช้อปใช้" และ โครงการ "ช้อปช่วยชาติ" ให้เหมาะสม

สำหรับ ปัญหาของสายการบิน ที่เสนอขอใช้เงินกู้ซอฟต์โลน 2.4 หมิ่นล้านบาทนั้น ก็ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องนี้ เพราะต้องยอมรับว่า โควิด-19 กระทบต่อการเดินทาง ซึ่งการผ่อนคลายต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบระยะยาว บนเงื่อนไขเข้มงวดตรวจป้องกันโรคนั้นก็จะช่วยทำให้เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการได้แนวทางหนึ่ง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น โดยมาตรการช่วยเหลือของผู้ประกอบการของรัฐ จะเน้นให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ประกอบการที่มีปัญหาให้ความรวดเร็ว และสร้างความมั่นใจต่อผู้ประกอบการ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การระดมทุนเพื่อชำระหนี้ ก็ควรจะดำเนินการผ่านตลาดทุน แต่เป็นรูปแบบไหน ก็ต้องมีการศึกษารายละเอียดที่เหมาะสม

สำหรับแนวคิด โครงการสะพานไทย มูลค่าโครงการ 9 แสนล้านบาท ยังต้องให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด อีอีซี เห็นชอบ เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมการลงทุน การเดินทาง การขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และรับขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาประเทศไทย และส่งออกไปฝั่งตะวันตกจาก โครงการสะพานไทย (จ.ชลลบุรี-เชื่อม จ.เพชรบุรี หรือ ประจวบคีรีขันธ์) ไปยัง จ.ระนอง ผ่านท่าเรือ ระนอง ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียตะวันออก และ อาเซียน มีทางเลือกไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ลดต้นทุนการขนส่ง และเกิดประโยชน์การลงทุนในไทย โดยก่อนหน้านี้ แม้จะมีการศึกษาลงทุน โครงการทวาย แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนระหว่างประเทศ จึงมีความล่าช้า ดังนั้น หากไทยพัฒนา"สะพานไทย" ควบคู่กับการผ่อนคลายข้อกำหนดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้เหมาะสม ก็จะทำให้โครงการเกิดได้รวดเร็วกว่า