posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นฯฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เชียร์มาตรการแจกเงิน 3 พันกระตุ้นจีพีดี 1.5%

09 กันยายน 2563

จับสัญญาณกำลังซื้อหลังไตรมาส 4 เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ช่วยพลิกฟื้น เรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา

นายธนวรรน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนส.ค. 2563 โดยรวมแทบทุกรายการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ (reopen) ในระยะที่ 1 ถึง 5 ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมา ประกอบกับการที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากโควิด

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นจากระดับ 50.1 เป็น 51.0 แต่ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤตโควิด-19ทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นทุกรายการจากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำ ซึ่งประเมินว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2453 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

"หากไม่มีโควิดรอบ 2 อย่างรุนแรง มั่นใจเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 จากนี้ไปตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และแม้จะยังมีประเด็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหาทางออกได้ผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะไม่มีความรุนแรง"

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐเตรียมนำมาใช้ ทั้งเรื่องการจ้างงาน และมาตรการแจกเงิน 3,000 บาท "คนละครึ่ง" เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้กับประชาชน 15 ล้านคน ใช้งบ 45,000 ล้านบาท แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากประเมินเบื้องต้น มาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และหมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสจะหดตัวน้อยลงที่ราว -7.5% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ -8 ถึง -10% ซึ่งต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะออกมาว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาไม่ติดลบหรืออยู่ในระดับ 0% ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ส่วนไตรมาส 2/2564 เศรษฐกิจน่าจะบวกได้เล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปีนี้