posttoday

กพร. แจงของบหลวงสู้คดีข้อพิพาทเหมืองทองคำ เปิดช่องเจรจายุติความขัดแย้ง

01 กันยายน 2563

อธิบดีกรมเหมืองแร่ฯ ลั่น จำเป็นต้องจัดงบไว้สู้ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทกรณีเหมืองอัคราฯ ขอให้เชื่อมั่นยึดประโยชน์ของประเทศสูงสุด

นายวิษณุ  ทับเที่ยง  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.) เปิดเผยถึง กรณีข้อพิพาทเหมืองทองอัคราระหว่างประเทศไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด เกิดขึ้นจากการที่ภาครัฐตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนอย่างทันท่วงที เพื่อคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบเฉพาะหน้า

ทั้งนี้ในอดีตมีการร้องเรียนถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่ทองคำอย่างต่อเนื่องและยกระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ การดำเนินการของภาครัฐจึงเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยในส่วนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นเอกภาพ ซึ่งปัจจุบันคณะอนุญาโตตุลาการยังไม่มีคำตัดสินชี้ขาดแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานคณะกรรมการ ยังคงเปิดโอกาสในการใช้แนวทางการเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกัน  ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีคำตัดสินชี้ขาด

อย่างไรก็ตามขอให้เชื่อมั่นว่า แนวทางการเจรจาของฝ่ายไทยจะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก ไม่มีการเอื้อประโยชน์หรือเลือกปฏิบัติแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยคำนึงถึงดุลยภาพที่เป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการด้วย

“ในประเด็นเรื่องงบประมาณที่กำลังเป็นที่สนใจของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้ ขอชี้แจงว่า จากการที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นให้ราชอาณาจักรไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลง การค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA   ทางกพร.จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการต่อสู้คดีในฐานะประเทศไทย โดยใช้เป็นค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในกระบวนการและขั้นตอนการต่อสู้คดีในขั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”