posttoday

กกร.กังวลเศรษฐกิจไทยปัจจัยเสี่ยงรอบตัว หั่นเป้าจีดีพีปีนี้ติดลบ 8%

01 กรกฎาคม 2563

ภาคเอกชนคาดไตรมาส2 จีดีพีส่อติดลบเลขสองหลัก ผลจากโควิดยังฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย แม้ไทยคลายล็อค อัดมาตรการเยียวยา แต่กำลังซื้อยังแผ่ว คาดปีนี้จีดีพีติดลบหนัก 8% ส่วนส่งออกยังน่าเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าในภูมิภาค

นายปรีดี  ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทย  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า  ที่ประชุมได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในเดือนพ.ค.และมิ.ย. 2563 แม้ภาครัฐทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ

ขณะเดียวกัน การส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิดในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ ทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มเศรษฐกิจยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรง ซึ่งจะทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยคงเกิดขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ แรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศอื่นๆ ตลอดจนเงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

สำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด

อย่างไรก็ตามการกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

นายปรีดี กล่าวว่า  ที่ประชุม กกร.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -8.0% ถึง -5.0% (จากเดิม -5.0% ถึง -3.0%) ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกมาเป็น -10.0% ถึง -7.0% (จากเดิม -10.0% ถึง -5.0%) และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาที่ -1.5% ถึง -1.0% (จากเดิม -1.5% ถึง 0.0%)

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินภูมิภาคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์ฯที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอกว่าคาดและการดำเนินนโยบายอัดฉีด QE ของสหรัฐฯ