posttoday

สั่ง‘ทีพีไอ’เร่งแก้เสียงรบกวนหลุมขุดปิโตรเลียมด่านขุนทดกระทบชาวบ้าน

01 กรกฎาคม 2563

กรมเชื้อเพลิงฯ กำชับทีพีไอลงพื้นที่เคลียร์ประชาชนรอบแปลงสำรวจปิโตรเลียม ด่านขุนทด ติดตั้ง fiber glass ลดระดับเสียงดัง แม้ตรวจวัดแล้วไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม

นายศุภลักษณ์  พาฬอนุรักษ์   โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ    เปิดเผยว่า กรณี มีชาวบ้านหมู่ 5 บ้านใหม่เจริญสุข ต.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ประท้วงบริเวณหลุมสำรวจปิโตรเลียม DKT-1 (ด่านขุนทด) ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L29/50 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โรงกลั่นน้ำมันทีพีไอ (1997) จำกัด เนื่องจากเกิดเสียงดังรบกวนจากการทำงานของเครื่องจักรตลอด 24 ชั่วโมง กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านบริเวณดังกล่าว นั้น ขณะนี้ได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตามข้อกำหนดในมาตรการต่างๆที่ได้ชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ต้องดำเนินการอื่นๆเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในกรณีเกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ กับประชาชนเพื่อให้การดำเนินการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่กำหนด

ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ตรวจสอบพบว่าการดำเนินกิจกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกพื้นที่รวมถึงการเจาะสำรวจหลุม DKT-1 (ด่านขุนทด) ได้กำกับดูแลในทุกกิจกรรมที่บริษัทผู้รับสัมปทานดำเนินงาน โดยได้จัดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับดูแลในฐานที่ดำเนินโครงการ และเน้นให้ดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมภายใต้กฎหมายปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นๆ แบบรัดกุม

การสำรวจหลุมปิโตรเลียม DKT-1 (ด่านขุนทด) นี้คาดว่าจะใช้เวลาในการเจาะสำรวจประมาณ 180 วัน นับจากวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ได้เริ่มการเจาะสำรวจ

อย่างไรก็ตามในการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม จำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำโคลนเพื่อช่วยในการดำเนินงาน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวทำงานด้วยระบบเพลาหมุนจากเครื่องยนต์ ทำให้อาจมีเสียงดังจากการเดินเครื่องยนต์และต้องมีการเดินเครื่องสำหรับการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการเจาะหลุมปิโตรเลียมทั่วไป เนื่องจากการพักหรือหยุดการเดินเครื่องระหว่างการเจาะสำรวจนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลุมปิโตรเลียมได้

ทั้งนี้จากการตรวจวัดระดับความดังของเสียงในบริเวณดังกล่าวพบว่ามีค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประมาณ 65 เดซิเบล ซึ่งไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำหนดระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบล

นายศุภลักษณ์  กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานให้มีการนำแผ่น fiber glass มาพันรอบท่อไอเสียของเครื่องยนต์ที่ส่งกำลังให้เครื่องปั๊มน้ำโคลนทำงานเพื่อลดการสั่นของท่อ ซึ่งจะช่วยให้ระดับความดังเสียงลดลงได้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหามาตรการอื่นเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเสียงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่