posttoday

"ซีพี" เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกน้ำ แก้มลิงยุค 4.0 แก้น้ำท่วมน้ำแล้ง

23 มิถุนายน 2563

'เจ้าสัวซีพี' โชว์ไอเดียโปรเจ็คช่วยชาติ สร้างแก้มลิงแก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง นำร่องพื้นที่ต้นแบบ 2-3 จังหวัด ภาคอีสาน ดึงรัฐและเอกชนร่วมมือแบบพีพีพี เช่าพื้นที่เกษตรกรสร้างอ่างเก็บน้ำ และให้สิทธิเกษตรกรขายน้ำให้พื้นที่อื่นๆในการเพาะปลูก

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่าได้ส่งหนังสือตอบรับนายกรัฐมนตรี ถึงโครงการช่วยเหลือเยียวยาคนไทย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อประเทศ โดยเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ที่น่าสนใจ คือ โครงการปลูกน้ำ

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่เพียงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลก แต่ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รวดเร็วและรุนแรง ได้บั่นทอนทรัพยากรน้ำ อันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ดีประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เพราะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถาวร จึงมีทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำไม่พอใช้ และแม้จะมีฝนตกชุก แม่น้ำลำคลองหลายสาย แต่ก็ยังไม่สามารถกักเก็บน้ำจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการบุกรุกป่าต้นน้ำ ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนเกิดภัยแล้ง เป็นวงจรซ้ำซาก ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป

ในอดีตจำนวนประชากรยังมีไม่มาก ความต้องการใช้น้ำจึงยังน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนผู้คนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการใช้น้ำก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ทรัพยากรน้ำมีจำกัด และศักยภาพในการกักเก็บน้ำยังเท่าเดิม ปัญหาจึงตามมา หากย้อนไปดูโครงการจัดการน้ำของภาครัฐในอดีต จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ทำแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือการปรับปรุงห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ดีขึ้นเท่านั้น จึงยังไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืน ดังนั้นด้วยข้อจำกัดด้านแหล่งเก็บกักน้ำที่ไม่เพียงพอ ในฤดูแล้งไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ เมื่อถึงฤดูมรสุม หากปริมาณฝนตกมากกว่าปกติ จะเกิดภาวะน้ำล้นน้ำท่วม พื้นที่เกษตรก็จะไม่สามารถทำการเกษตรได้ ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อน้ำมีต้นทุน การทำเกษตรจึงควรเลือกปลูกพืชที่ให้ผลผลิตสูง ราคาสูง และบริหารจัดการน้ำให้คุ้มค่ากับการปลูกพืชราคาสูงที่ส่วนใหญ่ต้องการน้ำเยอะ เกษตรกรจึงจะมีรายได้ที่ดี

หากมีการบริหารจัดการที่ดีให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ โดยสามารถกักเก็บน้ำในฤดูมรสุม ทำเป็นโครงการแก้มลิง 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเกษตร จากปริมาณน้ำที่เพียงพอกับพื้นที่เกษตรทั้งประเทศที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ (ข้อมูลวันที่ 22 มิถุนายน 2563) น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 993 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค การเกษตร และระบบนิเวศ สูงถึง 12,000 ล้านลบ.ม. ยังขาดการกักเก็บอีก 11,007 ล้านลบ.ม. จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจำเป็นต้องมีการจัดทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำหากดูปริมาตรเก็บกักน้ำรวมทั้งประเทศ จะพบว่า ปี 2563 ไทยมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งอย่างมาก การเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนจึงมีความสำคัญ ซึ่งหากมีการวางแผนและรีบดำเนินการอย่างดี อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังสามารถนำมาใช้ เพื่อกักเก็บน้ำเป็นแก้มลิงในช่วงมรสุม ป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย

สำหรับเป้าหมายการดำเนินโครงการ นั้น ในแต่ละปีฝนตก 100% คิดเป็นปริมาณน้ำ 754,720 ล้านลบ.ม. น้ำจะไปอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 28% หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 210,567 ล้านลบ.ม. และในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศประมาณ 42,620 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณน้ำฝน เป้าหมายของโครงการคือ การกักเก็บน้ำที่ปัจจุบันไหลลงสู่ทะเล ระเหยสู่อากาศ หรือซึมลงสู่ชั้นบาดาล ซึ่งมีปริมาณมากถึง 62% ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

นายธนินท์ กล่าวว่า ซีพีได้ศึกษาปริมาณการกักเก็บน้ำาเป็นรายภาค เพื่อคำนวณว่าจะสามารถกระจายน้ำในพื้นที่การเกษตรได้ครบทุกภาคหรือไม่ ซึ่งพบว่า ข้อมูลภัยแล้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยในเชิงพื้นที่ มีจังหวัดที่ประสบภัย 55 จังหวัด (หรือคิดเป็น 70% ของจังหวัดทั้งหมด) 500 อำเภอ 3,000 ตำบล (หรือคิดเป็น 46% ของจำนวนตำบลทั้งหมด) และ 22,000 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

เมื่อพิจารณาจากปริมาณกักเก็บน้ำรายภาค ซีพีจึงเริ่มที่ภาคอีสาน ทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำโครงการปลูกน้ำ เพื่อหาพื้นที่มาทำแก้มลิงหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอาจมีการสำรวจพื้นที่ในภาคกลางบางส่วน โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายทางดาวเทียม ซึ่งได้ประสานไปยัง GISTDA เพื่อขอข้อมูลในการวิเคราะห์แล้ว โดยมีพื้นที่ต้นแบบเพียง 2-3 จังหวัด เป้าหมายสูงสุดคือ การให้รัฐจัดทำโครงการบริหารน้ำทั้งประเทศ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงน้ำได้ในทุกฤดูกาล ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชที่หลากหลายได้อย่างยั่งยืน

"ซีพี" เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกน้ำ แก้มลิงยุค 4.0 แก้น้ำท่วมน้ำแล้ง

การดำเนินโครงการต้องเป็นความร่วมมือแบบ PPP(Public Private Partnership)ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงเกษตรกร ในรูปแบบที่ภาครัฐให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการบริหารจัดการน้ำ และสามารถขายน้ำที่เกษตรกรเป็นเจ้าของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ โดยจ่ายค่าเช่าพื้นที่แก่เกษตรกรในระยะยาว เพื่อนำพื้นที่มาขุดบ่อขนาดใหญ่เป็นลักษณะแก้มลิง โดยโฉนดยังเป็นของเกษตรกร และเกษตรกรสามารถขายน้ำไปยังพื้นที่ทำการเกษตร และมีระบบการบริหารจัดการโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและบริการ มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าภาครัฐจะเป็นเจ้าของหรือดำเนินการโดยภาครัฐเอง

นอกจากเกษตรกรจะได้ค่าเช่าพื้นที่แล้ว ยังสามารถทำการเกษตร เช่น ปลูกผลไม้ในพื้นที่โดยรอบ ในลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ รวมถึงการตลาดมารองรับ ขณะเดียวกันในอ่างเก็บน้ำยังสามารถทำประมงน้ำจืด รวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่รอบแหล่งน้ำได้อีกด้วย

การทำแก้มลิงจึงต้องขุดบ่อขนาดใหญ่ กระจายไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก และใกล้กับพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อประหยัดต้นทุนการสูบน้ำไปยังพื้นที่ทำการเกษตร และต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น เจ้าของพื้นที่ที่จะร่วมแปลงนำมาขุดเป็นแหล่งน้ำ ซึ่งจะได้รับค่าเช่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบาย ส่งเสริมการนำผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจที่เกษียณอายุแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิด การใช้สหกรณ์ที่มีอยู่มาพัฒนาด้วยระบบ IT เพื่อทำการตลาดยุคใหม่ ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกพื้นผสมผสานที่ให้ราคาสูง การสร้าง SME ทำธุรกิจท่องเที่ยว ประมง และการบริหารจัดการพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการเปิดหน้าร้าน ขายสินค้าให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย

"ซีพี" เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกน้ำ แก้มลิงยุค 4.0 แก้น้ำท่วมน้ำแล้ง

สำหรับยุทธการ"ปลูกน้ำ"ที่ได้กล่าวมานี้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน และขยายผลจากโครงการต้นแบบ ให้มีบ่อกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ มีผู้นำโครงการพร้อมทีมงานบุคคลากรที่ดี มีคุณภาพ นำยุทธศาสตร์ไปดำเนินการอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและครบถ้วนทุกขั้นตอน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยการพัฒนาที่ฐานรากของสังคมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการสร้างทุนใหม่ โดยดึงดูดเงินใหม่จากตลาดทุนโลก สร้างงานใหม่อันหลากหลายเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ใหม่ให้แก่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง และที่สำคัญยิ่งคือ การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่รัฐบาล ผ่านการเพิ่มขึ้นของภาษีและอากรต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในทันทีที่เริ่มโครงการ และจะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโตของการบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการพุ่งขึ้นตามมูลค่าที่ดินที่มีระบบชลประทานครบทั่วประเทศ