posttoday

สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เดินกลยุทธ์ Think Global Act Local ฝ่าวิกฤตค้าปลีก หลังโควิด

22 มิถุนายน 2563

เปิดกลยุทธ์ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต ย้ำตำแหน่ง "เดสติเนชัน" ชูความต่างแบรนด์ช้อประดับโลก-สร้างการรับรู้แบรนดิง ผ่านสื่อออนไลน์ ดึงกำลังซื้อลูกค้าทั่วประเทศ ฝ่าวิกฤตค้าปลีก 6 เดือนสุดท้ายปี63

สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เดินกลยุทธ์ Think Global Act Local ฝ่าวิกฤตค้าปลีก หลังโควิด

ไมเคิล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีก สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินโครงการสยาม พรีเมียม เอาท์เล็ตฯ ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี2563. บริษัทจะให้ความสำคัญ ใน 2 กลยุทธ์ หลัก

ประกอบด้วย 1.การสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และ ต่างชาติ ผ่านเครื่องมือทางการตลาดต่างๆ ทั้งออฟไลน์ และ ออนไลน์ เพื่อสื่อสารการตลาดแบรนด์ สยาม พรีเมี่ยมฯ ที่วางตำแหน่งเป็น จุดหมายปลายทาง (Destination) การช้อปปิงสินค้าลักชัวรี และ อินเตอร์เนชันแนล แบรนด์เนม ระดับโลก สำหรับทุกคน

สำหรับกลยุทธ์ที่2. ย้ำตำแหน่งสถานที่ตั้งโครงการฯว่า "เราอยู่ที่ไหน" จากยุทธศาสตร์ทำเล ที่บริษัทวางแผนตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้างโครงการ เพื่อแสดงความชัดเจนอาคารสิ่งก่อสร้าง สร้างความสนใจให้กับผู้เดินทางบนเส้นทางด่วน มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี และกระตุ้นให้เกิดการรับรู้แบรนด์โครงการฯ

นายไมเคิล กล่าวว่าจากกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทยังเลือกใช้เครื่องมือการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) เป็นหลักในสัดส่วนราว 60-70% และ ในสื่อออฟไลน์ (สิ่งพิมพ์) ราว 30-40% ด้วยสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน จะมีพลังการสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามตำแหน่งทางการตลาดโครงการฯ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ระดับโลก สำหรับทุกคน

"ความท้าทายการทำธุรกิจค้าปลีกในครึ่งหลังของปีนี้ ยังอยู่ที่แนวทางการบริหารจัดการมาตรการความปลอดภัยจากเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มลูกค้าที่เลือกเดินทางมายังสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ตฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยในช่วง6 เดือนจากนี้ไป กลุ่มเป้าหมายการทำตลาดหลักจะโฟกัสไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยว ในประเทศ และรองรับต่อไปยังกลุ่มลูกค้านักเดินทางจากนโยบาย ทราเวิล บับเบิล ระหว่างคู่ประเทศ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย" นายไมเคิล กล่าว

นายไมเคิล กล่าวว่าโครงการฯ เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมวางแผนเปิดตัวช่วงเดือน มี.ค. แต่จากการป้องกันการระบาดโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ประเทศ ทำให้โครงการฯ เลื่อนแผนงานเปิดเป็นวันดังกล่าว ซึ่งตรงกับแนวคิดเชิงกลยุทธ์ ของทั้ง2 บริษัทร่วมทุน คือ บริษัทสยามพิวรรธน์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในประเทศรอบด้าน หรือ Local Knowledge ขณะที่ ไซม่อนพร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกระดับโลก ในรูปแบบ Metrix Performance ปัจจุบันมีธุรกิจค้าปลีก รูปแบบเอาท์เล็ต ราว 200 สาขาทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการผสานกลยถทธ์การดำเนินธุรกิจค้าปลีกคนละครึ่งทาง เพื่อมองหาโอกาสการทำตลาดค้าปลีกในประเทศไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19 และในอนาคต

สำหรับโครงการฯ มีขนาดพื้นที่ 150 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ค้าปลีกในเฟสแรกราว 50,000 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 4,000 ล้านบาท รองรับร้านค้าจำนวน 137 แบรนด์ช้อป และคาดว่าภายในสิ้นปี2563 จะสามารถเปิดได้ครบ 100 แบรนด์ช้อป โดยจะมีสินคัาระดับลักชัวรีแบรนด์เข้ามาเปิดเพิ่มไม่ต่ำกว่า 3 แบรนด์ใหม่ อาทิ เฟอรากาโม่ และ สินค้าอินเตอร์เนชันแนล แบรนด์ ไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์ต่างๆที่ได้รับความนิยม

ทั้งนี้ หากธุรกิจเป็นไปตามแผนงานเดิมที่วางไว้ โดยตั้งเป้าหมายมีลูกค้าที่เข้ามาในโครงการฯ จะต้องจับจ่ายซื้อสินค้าสัดส่วน 80-90% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อคน และมีปริมาณลูกค้าหมุนเวียนเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน และในอนาคตบริษัทยังวางแผนเตรียมความพร้อมขยายพื้นที่ค้าปลีกโครงการในเฟสสองในอีก 5-6 ปีข้างหน้าด้วย

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล