posttoday

รมต.อาเซียนถกแผนรับมือเศรษฐกิจจากพิษโควิด 4 มิ.ย. นี้

01 มิถุนายน 2563

‘พาณิชย์’ ร่วมวงประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม หาทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 พยุงห่วงโซ่การผลิตสินค้าของโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 (Special AEM and Special AEM Plus Three on COVID-19) ผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 4 มิ.ย. 2563 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุมฯ

การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ให้สมาชิกหารือแนวทางการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ และการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นราบรื่น เนื่องจากที่ผ่านมาหลายประเทศนำมาตรการจำกัดการค้ามาใช้จากความจำเป็นด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาค

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการทางการค้า และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับมือกับโควิด-19 เพื่อให้อาเซียน พร้อมรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) จะมีการหารือแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้เช่นกัน

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มีมูลค่า 79,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 57,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 13,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ