posttoday

เปิดรายละเอียดคลายล็อคเฟส3 เริ่ม 1 มิ.ย.

29 พฤษภาคม 2563

ขยายเวลาห้าง-ศูนย์แสดงสินค้าเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ไฟเขียวสถานเสริมความงาม สปา นวดไทย ให้ฝึกซ้อมกีฬาอีกหลายประเภท แต่ห้ามแข่งขัน “บิ๊กตู่” แย้มหากระยะที่4ดีขึ้นอาจพิจารณายกเลิก

รายงานข่าวเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งมีประเด็นการพิจารณาในทีประชุมหลักคือมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อประกาศมาตรการผ่อนคลายแล้วขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจวิธีคิด เหตุผลในการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมใดๆ และมาตรการบริหารในพื้นที่ ตลอดจนตรวจติดตาม และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

อย่างไรกก็ตาม ในส่วนของการเตรียมการเปิดสถานศึกษา และเปิดการเรียนการสอน ต้องพิจารณา ความพร้อมในทุกด้าน บุคลากรครู และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้พร้อม ส่วนระบบการเรียนออนไลน์ก็จะเป็นการใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส พัฒนาการเรียนออนไลน์ สำหรับพื้นที่ห่างไกล จุดเปราะบาง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบท

“อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงเจตนาของการขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รัฐบาลทำเพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมของ ศบค. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ หากสถานการณ์ดีขึ้นในระยะ 4 อาจจะมีการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ดี ยังมีความจำเป็นต้องคง พ.ร.ก. ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินมาตรการต่ออย่างราบรื่น เพื่อให้ควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้ ดำเนินมาตรการรองรับในขั้นตอนต่อๆไปได้ เช่น การใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 เสนอโดยพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งผ่านการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาถึงมาตรการคัดกรองป้องกันเป็นหลัก โดยมาตรการที่กิจการและกิจกรรมที่เริ่มดำเนินการในระยะที่3 ได้จะต้องดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่

1. มาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ และรายงานหน่วยงานรับผิดชอบ กรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตามแนวทางที่กำหนด

2. ทุกกิจการและกิจกรรมจัดให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้า – ออกสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูล และรายงานทดแทน และ

3. ให้พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น การลงทะเบียนเข้า - ออกสถานที่ ระบบการเรียน การสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในระยะที่ 3 แยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1 กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่

  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้ขยายเวลาเปิดไปจนถึง 21.00 น. จากเดิมที่ระยะที่2 เปิดได้ถึง 20.00 น.
  • ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ แต่จำกัดพื้นที่รวมไม่เกิน 20,000 ตร.ม. และเปิดได้ถึง 21.00 น. เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้า
  • สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง ให้เกิดดำเนินการได้แต่ต้องงดการจัดกิจกรรมที่มีคนมาชุมนุมหนาแน่นและไร้ระเบียบ
  • ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมสำหรับบรุษหรือสตรี ที่เริ่มเปิดได้ในระยะที่2 ในระยะที่3 ให้ทำสีผม และบริการอื่นๆได้ แต่ต้องให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชม. และยังคงไม่ให้นั่งรอในร้าน
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนวัยเรียน ให้เปิดเฉพาะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในการจัดหมาย หรือจัดสรรแจกจ่ายเครื่องดื่มอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองมารับกลับไปให้เด็ก รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข

2. กิจกรรมด้านการออกกำลังกายดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ได้แก่

  • คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย และนวดฝ่าเท้า ส่วนที่ยังงดอยู่คือ งดการอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำแบบรวมและการนวดใบหน้า
  • สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ให้เปิดดำเนินการได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้เล่นแบบรวมกลุ่ม และงดอบตัวและอบไอน้ำแบบรวม
  • สนามกีฬา เพื่อออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม ได้แก่ ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล แต่จะต้องไม่มีการแข่งขัน ไม่มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 10 คน โดยยังไม่นับผู้เล่น
  • สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต หรือโรลเลอร์เบลตหรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน แต่อนุญาตให้เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายและการฝึกซ้อมเท่านั้น
  • สถาบันลีลาส หรือสอนลีลาศ
  • สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ท โดยต้องไม่เป็นการแข่งขันและจำกัดผู้เล่น
  • โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหารสพ ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 200 คน โรงมหรสพเปิดเฉพาะลิเก ลำกัด การแสดงพื้นบ้าน และยังคงลดการแสดงดนตรี คอนเสิร์ต)
  • สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ โดยจำกัดผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่ม

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงไว้ ได้แก่ ยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพราะเวลานี้แม้ในประเทศจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีแต่ในต่างประเทศยังคงน่ากังวลปรับระยะเวลาเคอร์ฟิว เป็น 23.00 – 03.00 น. โดยลดเวลาจาก 5 ชม. เหลือ 4 ชม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการตามที่ราชการกำหนด

เช่นอาจจะมีเจ้าหน้าที่สอบถามจุดหมายปลายทาง และระยะเวลาการเดินทาง“มาตรการที่ ศบค.ออกนี้เป็นมาตรฐานกลาง แต่ว่าแต่ละจังหวัดอาจจะมีสถานการณ์แตกต่าง จังหวัดอาจออกมาตรการเสริมที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานกลางได้ ส่วนที่มีกรณีประชาชนเริ่มจองที่พักเพื่อไปท่องเที่ยวนั้นก็คงต้องดูว่าไปเที่ยวที่ไหน เพราะบางสถานที่ยังไม่เปิดเช่นชายหาดเรายังไม่เปิดแต่ศูนย์ด้านวัฒนธรรม โบราณสถานเปิดให้เที่ยวได้แล้ว ท่านก็เดินทางไปเที่ยวได้ แต่แนะนำว่าไปที่ใดก็ขอให้พกบัตรประจำตัวเผื่อเจ้าหน้าที่เรียกสอบถาม”พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว