posttoday

อีก 3 ปีได้ใช้ “สนามบินอู่ตะเภา”

21 พฤษภาคม 2563

บอร์ดอีอีซี เคาะดาร์ฟสุดท้าย ร่างสัญญาร่วมทุนระหว่างทัพเรือ-เอกชน เล็งเป็นสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่3 เปิดใช้พร้อมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินปี 2566

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดอีอีซี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 ได้เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างกองทัพเรือและกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งผ่านการพิจารณาโดยสำนักงานอัยการสูงสุดและกลุ่มบีบีเอสยอมรับผลการเจรจาแล้ว

โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะได้นำเสนอร่างสัญญาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และกำหนดนัดเพื่อดำเนินการลงนามในสัญญาได้ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.2563 และเริ่มโครงการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566

“มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบกับการพัฒนาโครงการนี้หรือไม่ ได้มีการประเมินแล้วว่าการขนส่งสินค้าจะกลับมาเป็นปกติภายในปีครึ่ง ส่วนการขนส่งคนจะกลับมาภายใน 2 ปี แต่กำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดดำเนินการของสนามบินคือปี 2566 ดังนั้นแม้จะมีโควิด-19 ในเวลานี้ แต่ก็จะไม่กระทบโครงการนี้ที่จะเปิดในอนาคต” นายคณิศ กล่าว

เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า หลังจากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ได้รับอนุมัติ นับว่า 2 โครงการสำคัญของอีอีซีเดินหน้าได้แล้ว ซึ่งอีกโครงการคือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมว่าทั้ง 2 โครงการนี้จะต้องเชื่อมกันให้ได้ ต้องมีกำหนดการเปิดใช้งานใกล้เคียงกันในปี 2566 ดังนั้นที่ประชุมครั้งนี้จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการประสานการทำงานของเอกชนที่เป็นผู้ร่วมทุนกับรัฐใน 2 โครงการซึ่งเป็นคนละกลุ่มให้เกิดความต่อเนื่องกัน

ในส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO) ซึ่งอยู่ในการดูแลของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) นั้น แม้ล่าสุด ครม.อนมัติให้การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล แต่เนื่องจากโครงการนี้มีแผนงานที่ต้องดำเนินงานเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาอยู่แล้ว ไม่ว่าใครจะได้รับแต่ตั้งเข้ามาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ก็คงต้องมีการเสนอโครงการนี้เข้าไปอยู่ในแผนฟื้นฟูฯ เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์และจะสร้างรายได้ให้กับการบินไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ซึ่งจะมีความสำคัญคือเป็นสนามบินแห่งที่3 ของกรุงเทพฯ จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางการเงินให้แก่รัฐจากค่าเช่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้ 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอาการเพิ่ม 62,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่ง (ใน5 ปีแรก) เมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปีข้างหน้าทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐองค์ประกอบของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะอยู่บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ประกอบไปด้วย 6 โครงการ

ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน(MRO) เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์อบรมการบิน

กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสซึ่งชนะการประกวดราคาเพื่อร่วมลงทุนกับกองทัพเรือเพื่อพัฒนาโครงการนี้ ประกอบด้วยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน