posttoday

ทูตเกาหลีใต้ ถก “สมคิด” หาช่องเพิ่มการค้าหลังโควิด-19 คลี่คลาย

14 พฤษภาคม 2563

คาดเศรษฐกิจไตรมาส1 ร่วงทิศทางเดียวกับทั่วโลก ชี้ทำใจรอไตรมาส2 หนักกว่ารับผลกระทบจากโรคระบาดเต็มๆ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2563 นายอี อุก-ฮ็อน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย ได้เข้ามาพบหารือเพื่อหาแนวทางในการผ่อนปรนให้นักธุรกิจเกาหลีใต้และไทยสามารถเดินทางเพื่อการติดต่อธุรกิจได้สะดวกยิ่งขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)คลี่คลายแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหารือกับกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง ว่าจะมีมาตรการร่วมกันอย่างไรให้เกิดความสะดวก แต่มีความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมโรคติดต่อได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การเข้ามาหารือครั้งนี้ เนื่องจากทางเกาหลีใต้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นแล้ว หัวใจสำคัญในระยะต่อไปคือการให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ ซึ่งการค้าระหว่างประเทศก็เป็นกลไกสำคัญจึงต้องหารือ ในประเด็นที่อยากให้ประเทศไทยปลดรายชื่อเกาหลีใต้ออกจากการเป็นเขตที่มีการแพร่ระบาดเพราะขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว

รวมถึงหารือว่าในช่วงที่เริ่มกลับมามีการค้าร่วมกันจะมีมาตรการระหว่างกันอย่างไรเพื่อให้การเจรจาการค้าสะดวกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ดำเนินมาตรการกับจีน เวียดนาม และฮังการี มาแล้ว ซึ่งมาตรการที่ทำก็อย่างเช่น การตรวจคัดกรองโรคของนักธุรกิจที่เดินทางเข้าประเทศ และกักตัวในเวลาที่สั้นลงก่อนออกไปติดต่อธุรกิจในประเทศนั้นๆ

ซึ่งในการหารือทางรองนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ทางเกาหลีใต้ทำมาตรการมานำเสนอ เพื่อทางการไทยจะได้นำไปพิจารณาต่อไป แต่ในขณะนี้ที่ทางไทยให้ความสำคัญสูงสุดคือความปลอดภัยและชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ การหาแนวทางผ่อนปรนก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทางการก็ต้องพิจารณาเพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีการค้าขายมากขึ้นประชาชนก็จะอยู่ได้ เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนมีความยากลำบากจากผลกระทบจากโรคโควิด-19 การปิดเมือง ปิดประเทศทำให้ทั้งการค้าขายและการท่องเที่ยวหยุดชะงักลง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าอยู่ถึง 15% ของจีดีพีนั้นนอกจากจะไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนได้แล้ว อาจจะมีปัญหาไปอีกระยะหนึ่งด้วย

ขณะที่การส่งออกก็หยุดชะงักตามการปิดประเทศของไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก การบริโภคของประชาชนก็ลดลง การลงทุนก็ไปไม่ได้ดีเท่าที่ควร ดังกล่าวถึงเป็นที่มาที่รัฐบาลเตรียมโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานรากในวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการต่างๆ จะเริ่มดำเนินการและเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่3 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจไตรมาสที่1/63 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะรายงานในวันที่ 18 พ.ค. นี้ คาดว่าจะออกมาไม่ดีนัก เนื่องจากหลายประเทศที่เปิดเผยไปก่อนประเทศไทยก็มีการติดลบแล้ว เช่นเกาหลีใต้ติดลบ 1.4% แต่ไตรมาสแรกนั้นยังมีเดือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มๆ เฉพาะเดือนมี.ค. แต่ไตรมาสที่2 ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จะมีสถานการณ์ที่แย่กว่าไตรมาสแรก

“ต้องทำใจว่าไตรมาสที่2 จะไม่ดียิ่งกว่าไตรมาสที่1 เพราะรับผลกระทบจากโควิดเต็มๆ แต่ถ้าเราดูแลโรคติดต่อได้ดีสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น โดยเงิน 1 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ จะช่วยดูแลเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง เพราะเม็ดเงินก็มีมูลกว่าประมาณ 5% ของจีดีพี รัฐบาลพยายามพยุงให้ทุกอย่างผ่านไปได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว