posttoday

ครม.ไฟเขียวใช้เงินกู้4แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

12 พฤษภาคม 2563

ครม. เห็นชอบใช้เงินกู้อีก 4 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดีเดย์เริ่มอัดเงินเดือน ก.ค. ยันใช้โปร่งใส

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการใช้เงินกู้จากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มเติมซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกวงเงิน 6 แสนล้านบาท เพื่อใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประชาชนประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และอาชีพอื่นๆ ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับในวันนี้ ครม. ได้เห็นชอบวงเงินส่วนที่สองอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความยั่งยืนมั่นคง ตามกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้เสนอให้ ครม. เห็นชอบ

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ครม. เห็นชอบใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความเข็มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมที่พึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่จากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีการถอดบทเรียน และ ครม. ได้อนุมัติการใช้เงินกู้เพื่อสร้างความเข็มแข็งในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้เงินกู้ส่วนหนึ่ง จะนำไปสร้างความเข้มแข็งด้านเกษตรเรื่องอาหาร เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ

นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุม เศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะจะมีแรงงานส่วนหนึ่งกลับไปภูมิลำเนาเดิม จำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับ ก็จะต้องมีการใช้เงินกู้ดูแลเศรษฐกิจระดับชุมชน เพื่อทำให้เกิดการร่วมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ สหกรณ์ต่างๆ เพื่อมีกิจการกิจกรรมดำเนินการในระดับชุมชนมากขึ้น

"การใช้เงินกู้เป็นหัวเชื้อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศในอนาคต จะมีการเริ่มนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเดือน ก.ค. หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากนั้นก็ไปจะไปต่อกับการใช้เงินงบประมาณ 2564 และ 2565" นายทศพร กล่าว

นายทศพร กล่าวว่า กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ไม่จำเป็นต้องใช้หมด จะดูแต่รายโครงการที่สำคัญๆ ที่จะนำการเปลี่ยนของเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนได้ และการใช้เงินกู้จะเน้นเรื่องความโปร่งใส มีระบบการตรวจสอบให้นำข้อมูลลงในเว็บไซต์เพื่อให้สังคมเข้ามาตรวจสอบดูได้ มีผู้ตรวจราขการลงไปดู มีผู้ตรวจภาคประชาชน นิสิตนักศึกษาลงไปตรวจในพื้นที่ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม