posttoday

เคลียร์ปมทำไมค่าไฟแพง อากาศร้อนดันการใช้ไฟพุ่ง

20 เมษายน 2563

กฟน.ยืนยัน ค่าไฟสูงขึ้นจากเหตุสภาพอากาศที่ร้อนจัด ลดอุณหภูมิแอร์ทุก 1 องศา การใช้ไฟเพิ่มขึ้น 10 % ปฏิเสธลักไก่ขึ้นค่าไฟฟ้ายืนยันใช้อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิม

นายจาตุรงค์   สุริยาศศิน   ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง MEA ในฐานะโฆษก MEA เปิดเผยว่า ช่วงนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสงสัยว่าค่าไฟขึ้นหรือค่าไฟฟ้าแพงเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟนั้น ไม่เป็นความจริง จึงขอชี้แจงว่า MEA ยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราเดิม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดมีอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ที่ 36-40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นทำงานมากขึ้นและใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในระยะเวลาการใช้งานที่เท่ากันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปรับอากาศ  เช่น หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส จะพบว่าในช่วงฤดูร้อนแอร์จะทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมมากเพื่อปรับลดอุณหภูมิจาก 40 องศาเซลเซียส ให้ถึงอุณหภูมิ 26 องศา ตามที่ตั้งค่าไว้ ชึ่งต่างกันถึง 14 องศาเซลเซียล จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

นอกจากนี้ในทางกลับกันในช่วงฤดูหนาว หรือสภาวะอากาศปกติมีอุณหภูมิในห้องก่อนเปิดแอร์อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้อง 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะต่างกันเพียง 4 องศาเซลเซียส จึงทำให้การทำงานของแอร์น้อยกว่าในช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศที่ร้อน

ทั้งนี้หากปรับลดอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% ด้วยเหตุนี้ในช่วงอากาศร้อนจึงทำให้มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ประกอบกับ สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 มีมาตรการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พักอาศัยและทำงานอยู่กับบ้าน เป็นอีกสาเหตุที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าตลอดทั้งวันเป็นเวลายาวนานเพิ่มขึ้น เปิดแอร์นานขึ้น เปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง ประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น  อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่มีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว