posttoday

หวั่นปัญหา "ไข่ไก่ล้นตลาด" ตามมา

11 เมษายน 2563

เลขาธิการ สศก. ระบุชัด ข้อมูลต้นทุนไข่ไก่เฉลี่ย 2.69 บาท/ฟอง มั่นใจราคาเหมาะสมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้บริโภค

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะประธานอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไข่ไก่ ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (มกราคม – มีนาคม 2563) เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.69 บาท

โดยการจัดทำต้นทุนนั้น สศก. มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่เป็นไปตามหลักวิชาการและอยู่ในหลักเกณฑ์ของความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่เรียกว่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อมูลทั้งต้นทุนที่เป็นเงินสด ที่เกษตรกรต้องจ่ายด้วยเงิน อาทิ ค่าพันธุ์ ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลง และต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด

ทั้งนี้ เกษตรกรไม่ได้ใช้เงินจ่าย (ฟรี) เช่น แรงงานในครัวเรือน ค่าใช้ที่ดินของตนเอง และค่าเสื่อมอุปกรณ์การเกษตร จึงถือได้ว่าครบถ้วน ครอบคลุมทุกมิติอย่างแน่นอน โดยผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ควรตั้งราคา ที่เอาเปรียบผู้บริโภค

“ในฐานะประธานอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ เราได้ร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ จากกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน ภาคเอกชน บริษัทผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเกษตรกร จึงขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่า ข้อมูลมีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีการทบทวนให้เป็นเอกภาพร่วมกัน ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์และพื้นฐานความเป็นธรรมทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล” เลขาธิการ สศก. กล่าว

ปัจจุบันปริมาณไข่ไก่มีเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และขอให้ประชาชนคนไทยคลายกังวลและไม่จำเป็นต้องกักตุนไข่เพื่อบริโภคในช่วงของวิกฤติ covid-19 ปัจจุบันการกักตุนไข่ไก่เริ่มคลี่คลาย ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงร้านค้าหรือแหล่งจำหน่ายไข่ไก่ได้อย่างทั่วถึง โดยคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ในระบบเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้เน้นย้ำและสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ไข่ไก่อย่างใกล้ชิด พร้อมหามาตรการรองรับหากเกิดกรณีไข่ไก่ล้นตลาด

โดยได้สั่งการให้ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ (ทูตเกษตร) ที่ปรึกษาการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) และผู้ประกอบการ ช่วยกันขยายตลาดส่งออกไข่ไก่เดิม และหาตลาดส่งออกใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับกรณีดังกล่าว และเน้นย้ำ การบริหารจัดการจะต้องเกิดความสมดุลทั้งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้บริโภค