posttoday

CP ปิดช่อง "ซัพพลายเชน" อาณาจักรธุรกิจอาหารต้นน้ำ-ปลายน้ำ

10 มีนาคม 2563

นักวิชาการมองผลดีตกกับผู้บริโภคมากกว่าผูกขาด หนุนกิจการคลุมวงจรห่วงโซ่ธุรกิจทั้งลูป ตั้งแต่ปศุสัตว์ ถึงหน้าร้านช่องทางจำหน่าย ทุกฟอร์แมต ค้าส่ง-ค้าปลีก-สะดวกซื้อ ทั้งใน และ ตปท.

ปิดดีลเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 63 หลังจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสะดวกซื้อ "เซเว่น อีเลฟเว่น" ในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ หลังจาก เข้าซื้อหุ้น (กิจการ) จาก บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores ของประเทศ Malaysia ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ประมาณ 3.38 แสนล้านบาท

สำหรับกิจการ "เทสโก้ โลตัส" ในประเทศไทย ดำเนินการบริหารงานโดยบริษัทเอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด โดย "เทสโก้ อังกฤษ" เป็นถือหุ้นใหญ่ และ มีสาขาทั้งหมด 2,100 สาขา โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในปี 2562 เทสโก้ฯ ในไทย มีรายได้รวม 1.89 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,800 ล้านบาท

ส่วน ธุรกิจเทสโก (Tesco) ในมาเลเซีย เปิดให้บริการสาขาแรกในปี 2545 ปัจจุบันมี สาขาเทสโก้ รูปแบบ (ฟอร์แมต) ต่างๆ ให้บริการ 49 แห่ง มีพันธมิตรท้องถิ่น กลุ่ม บริษัทในเครือ Sime Darby Berhad ถือหุ้นสัดส่วน 30% (วิกิพีเดีย)

นอกจากนี้ หากย้อนกลับเมื่อราว 2 ปีก่อน (2561) กลุ่มซีพี ออลล์ (CP ALL) ยังได้เข้า ซื้อธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง แบรนด์แม็คโคร ( MAKRO ) จากบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสาขาให้บริการกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ เพื่อเสริมทัพธุรกิจด้านค้าปลีกซีพีมี จากเดิมที่มี ร้านค้าปลีกสะดวก ซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ด้วยจำนวนสาขาในไทยเกือบ 11,500 แห่งทั่วประเทศ ใน ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ยังไม่รวมสาขาร้านค้าปลีกสินค้าอาหารสด/แห้ง แบรนด์ ซีพี เฟรชมาร์ท (CP Freshmart ) ที่มีมากกว่า 320 สาขาทั่วประเทศ ของบริษัทซีพีเอฟ จำกัด(มหาชน) เป็นอีกธุรกิจในอนาจักร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ยิ่งทำให้ อาณาจักรซีพี ทวีความแข็งแกร่งด้านช่องทางจำหน่ายสินค้า ที่ครบวงจรยิ่งขึ้นไปอีก จากการมีหน้าร้านทั้ง ค้าปลีก-ค้าส่ง (แม็คโคร) ค้าปลีกสะดวก ซื้อ (เซเว่นอีเลฟเว่น) ค้าปลีกอาหารสด-แห้ง (ซีพี เฟรชมาร์ท) และ ล่าสุด ค้าปลีกขนาด ใหญ่(ไฮเปอร์มาร์เก็ต) แบรนด์ เทสโก้ โลตัส

ต่อเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองปรากฎการณ์การเข้าซื้อกิจการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอังกฤษ ในครั้งนี้ว่า เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมากกว่า การมีอำนาจเหนือตลาด หรือ การผูกขาดในธุรกิจค้าปลีกในประเทศ ด้วยปัจจุบันประเทศไทย เองก็มีกฎหมายดูแลการผูกขาดตลาดอยู่แล้ว

ด้วยปัจจุบัน เครือเจริญโภภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี มีธุรกิจหลักด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ประเภทต่างๆเพื่อการบริโภคสำหรับทำคน/สัตว์ และยังต่อยอดจากภาคผู้เลี้ยงสัตว์ไปสู่การทำธุรกิจแปรรูปอาหาร ภายใต้แบรนด์ ซีพี (CP) ซึ่งการได้กิจการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ ในครั้งนี้ มองว่าจะเข้ามาช่วยเสริมให้ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ของซีพี ให้มีความครบวงจรทั้งระบบซัพพลายเชน ที่ครอบคลุมช่องทางขายทุกฟอร์แมต ทั้งในและตลาดต่างประเทศ

ดร.ธนวรรธน์ ให้มุมมองเสริมว่าปฏิบัติการ การเข้าซื้อหุ้นกิจการเทสโก้ ของซีพี ในครั้งนี้ หากมองในฐานะผู้บริโภคทั่วไปแล้ว น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเป็นเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก ด้วยปัจจุบันยังมีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่แบรนด์อื่นๆ ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกในการจับจ่ายซื้อสินค้าให้กับประชาชน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ยังเป็นทุนของนักลงทุนไทย อีกด้วย