posttoday

ปตท.เทงบลงทุน 9 แสนล้านระยะ 5 ปี บูมโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน ร่วมกระตุ้นจีดีพีประเทศ

24 กุมภาพันธ์ 2563

ปตท.เดินหน้าแผนการลงทุนระยะยาว กว่า 9 แสนล้านบาท สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี มุ่งธุรกิจแอลเอ็นจี -ไฟฟ้า-ปิโตรเคมีมูลค่าสูง มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมแผนการลงทุนสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ระยะเวลา 5 ปี (2563-2567) กว่า 9 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นแผนลงทุน 5 ปี วงเงิน 180,814 ล้านบาท และเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure)อีก 203,583 ล้านบาท เมื่อรวมกับบริษัทในเครือปตท.ทั้งหมดจะมีเงินลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า รวม 900,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งเงินลงทุนต่างประเทศ และในประเทศ โดยจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.2-0.3%

สำหรับแผนการลงทุนในอนาคต ได้แก่ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น มีแผนขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานและมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ และขยายการเติบโตด้วยการลงทุนธุรกิจก๊าซฯ สู่ไฟฟ้า (Gas to Power) โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการดำเนินธุรกิจแอลเอ็นจี แบบครบวงจรและการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย แอลเอ็นจี ของภูมิภาคอาเซียน

ปตท.เทงบลงทุน 9 แสนล้านระยะ 5 ปี บูมโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน ร่วมกระตุ้นจีดีพีประเทศ

สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จะผลักดันกระบวนการผลิตด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทาง Circular Economy และขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความชำนาญและได้เปรียบในการแข่งขันไปสู่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมูลค่าสูง

นอกจากนี้ ในด้านนวัตกรรมและการลงทุนธุรกิจใหม่ ปตท. เตรียมพร้อมพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development) โดยเน้นในด้านการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และจะขยายการเติบโตด้วยการร่วมทุนหรือซื้อกิจการในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) อาทิ ธุรกิจไฟฟ้าครบวงจร พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะเดียวกันเพือเป็นการแสวงหาโอกาสลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่และสร้างธุรกิจใหม่ ปตท. ได้พัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสร้าง “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย สนับสนุนแนวคิดทางด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านการลงทุนประเภท Prototype เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาวัสดุปิดแผลจาก ไบโอเซลลูโลสคอมโพสิต เพื่อช่วยเร่งการรักษาบาดแผลด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. การวิจัยและพัฒนา EV Charger ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้านวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

รวมถึงการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมรถสามล้อไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นต้นแบบยานพาหนะในอนาคต การสนับสนุนการวิจัย “VISBAT” แบตเตอรี่คุณภาพสูงโดย KVIS เพื่อเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ให้ต้นทุนยาลดลง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของรัฐ

ด้านการดูแลภาคประชาชน ในเรื่องราคาน้ำมันยังคงเป้าหมาย "ขึ้นช้า-ลงเร็ว" โดยปีนี้คาดราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย 60ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2562 ที่ราคาเฉลี่ย 63 ดอลลาร์/บาร์เรล และล่าสุดคณะกรรมการ ปตท.ได้อนุมัติการบริจาคเงินเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในรูปแบบส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 50 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยใช้งบดำเนินงาน 30 ล้านบาท

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 รับทราบผลการดำเนินงาน ปตท. และได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 โดย ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จาก การขายและให้บริการรวม 2.2 ล้านล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาท คิดเป็น 4.2% ของรายได้ ปรับลดลง 22 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบของสงครามทางการค้าโลก ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคชะลอตัวและส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับลดลง

อย่างไรก็ตามบอร์ดปตท. อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout ratio) 62.5% ของกำไรสุทธิ และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ 4.5% รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,126 ล้านบาทสำหรับผลประกอบการปี 2562 ซึ่งปตท. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.9 บาทต่อหุ้นแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และคงเหลือเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้นที่คาดว่าจะจ่ายในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. ในวันที่ 10 เมษายน 2563

การจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการปี 2562 ดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผล รวมประมาณ 36,145 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินงบประมาณของประเทศนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนให้แก่ประเทศ รวมทั้งสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านเงินปันผลจำนวน 20,981 ล้านบาท ให้นักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1.3 แสนราย