posttoday

'พาณิชย์' โล่ง ส่งออกเดือน ม.ค.โต 3.35% บวกครั้งแรกรอบ 6 เดือน

24 กุมภาพันธ์ 2563

ทิศทางส่งออกปรับตัวดีขึ้น หลังดีลเฟส1 จีน-สหรัฐ สร้างบรรยากาศการค้า ดันส่งออกเดือนม.ค. ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แต่ยังระวังแรงกดดันจากไวรัสโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศ ว่า การส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 มีมูลค่า 19,625.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.35% กลับมาเป็นบวกในรอบ 6 เดือน จากเดิมที่เคยประมาณการจะติดลบ 3.1-2.9% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,181.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.86% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,555.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยทิศทางการส่งออกของไทยสะท้อนแนวโน้มเชิงบวกจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal)ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวล ซึ่งคาดว่าปีนี้ภาพรวมส่งออกไทยจะเป็นบวกเล็กน้อย

ทั้งนี้สินค้าที่ได้รับผลกระทบภายใต้มาตรการสงครามการค้า อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน อีกทั้ง สินค้าดาวรุ่งของไทยในภาคการผลิตจริง (Real Sector)หลายรายการ อาทิ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่ม ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เมื่อหักทองคำและน้ำมันการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2563 หดตัวร้อยละ 0.6

สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2563 แม้ว่าการลงนามข้อตกลงระยะแรกช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากการส่งออกไทยที่กลับมาขยายตัวในเดือนม.ค. แต่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยยังเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ไวรัส Covid-19 ที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะสั้น-กลาง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 รายวันในจีนเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และประเมินว่าทางการจีนจะทยอยออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้ ส่วนประเด็นค่าเงินนั้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงต้นปี อาจช่วยลดแรงกดดันสำหรับสินค้าที่มีการแข่งทางด้านราคาสูงได้บ้าง ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนร่วมด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยลบในภาวะที่มีความผันผวนสูง ในภาวะที่มีปัจจัยท้าทายหลายประการในหลายตลาด

เมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าหรือตลาดส่งออกจำกัด และในช่วงที่หลายประเทศให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของสุขอนามัย จึงเป็นโอกาสดีในการขยายตลาดส่งออกสินค้า กลุ่มอาหาร ซึ่งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ดีและได้รับมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ การรุกตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อส่งเสริมการค้าที่ตอบสนองรูปแบบการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้บริโภคมีความกังวลและระมัดระวังการออกไปที่สาธารณะมากขึ้น

ด้านการนำเข้าเดือนม.ค. ลดลง 7.86% จากฐานสูงของการนำเข้าอาวุธเพื่อซ้อมรบในเดือนมกราคมปีก่อนหน้า และการนำเข้าทองคำที่ลดลง เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัย การนำเข้าไทยเดือน ม.ค. 2563 หดตัวเล็กน้อย 0.17% อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.8 %ในกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 18.7% สูงสุดในรอบ 2 ปี

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ หลายตลาดกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 3.1% เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 9.9% และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องปรับอากาศฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

ตลาดจีน ขยายตัว 5.2% และขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ทองแดงฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น

ตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัว 0.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น