posttoday

'มนัญญา' ชงมาตรฐานไอเอสโอคุมโรงงานผลิตสารเคมีเกษตร

20 กุมภาพันธ์ 2563

เริ่มตั้งแต่นำเข้า การผลิต ถึงการจัดเก็บเมื่อสารหมดอายุ  ระบุ  20 ปีที่ผ่านมาไม่เคยคุม ขอเริ่มสมัยนี้ เพราะชีวิตคนสำคัญกว่าสินค้า ยันไม่เคยมีผลประโยชน์

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ให้กรมวิชาการเกษตร ไปยกร่างเพื่อคุมระบบการผลิตสารเคมีเกษตรตั้งแต่ต้นทางคือการนำเข้า การผลิต และรักษาสิ่งแวดล้อม  และร่วมถึงการดูแลสุขอนามัยของพนักงานผู้ผลิต  ตลอดจนการกำหนดให้ร้านค้าต้องปฏิบัติร่วมถึงการจัดเก็บสารเมื่อหมดอายุ เพื่อไม่ให้ตกค้างในตลาด   เป็นการดำเนินการตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551  ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าสารเคมีเหล่านี้ต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

โดยให้เวลาในการปรับปรุงบริษัท โรงงานผู้ผลิต  2 ปีนับแต่วันประกาศมีผลบังคับใช้  ร่วมถึงการคุมการโฆษณาที่เกินจริง และกำหนดด่านที่อนุญาตให้นำเข้าสารเคมีเกษตร  ทั้งนี้กรมวิชาการได้นำร่างประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นตามกฏหมายเมื่อ  27 ม.ค.-63  - 12 ก.พ.  63  รวม 15  วัน พบว่ามีผู้มาแสดงความเห็น 10,258  คน เห็นด้วย 9,590 คน หรือ 93.49%   ไม่เห็นด้วย 668  ราย หรือ  6.51% 

ทั้งนี้ ได้ส่งร่างให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาวันที่ 20 ก.พ. 63  คาดว่าจะมีการเรียกประชุมภายในเดือนนี้ ซึ่งเมื่อมีหลักเกณฑ์สถานที่ผลิตที่กำหนดให้โรงงานที่ผลิตต้องมีมาตรฐานไอเอสโอ  จะทำให้ทุกโรงงานที่ประสงค์จะผลิตสารเคมีเกษตร ต้องมีการรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 3  ฉบับคือมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001   มาตรฐานะจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 และปฏิบัติการต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO /IEC 17025  ด้านการวิเคราะห์อันตราย   

"ที่ผ่านมา  20 ปี  การกำหนดมาตรฐานี้ไม่เคยมี แต่ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ ประเทศไทยเป็นแหล่งการเกษตร ทำไมปล่อยให้โรงงานผลิตสารเคมีเกษตรไม่มีมาตรฐานไอเอสโอ  ทั้งที่ใช้กับสินค้าเกษตร ในขณะที่โรงงานผลิตอิฐ หิน ปูน ทราย  ยังต้องมีไอเอสโอ ดังนั้นคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีคนขึ้นมารุมค้านหรือต่อว่า หรือกล่าวหากันลอยๆ เพราะดิฉันไม่มีผลประโยชน์กับใคร เต่ที่ทำก็เพื่อประชาชนที่จะได้บริโภคพืชผักที่ปลอดภัยและจะเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป  และต่อไปการผลิตสารเคมีเกษตร 1 สารจะต้องมีเพียง 1 ยี่ห้อเท่านั้น และทุกผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  รวมถึงมีการกำหนดให้การจำหน่ายจะต้องมีผู้มีความรู้แนะนำ ต้องมีการอบรมการใช้  ไม่ใช่ปล่อยให้มีการซื้อขายกันง่ายๆ ใช้โดยขาดความรู้ทำให้เกษตรกรและประชาชนที่สัมผัสสารได้รับอันตราย" นส.มนัญญากล่าว

สำหรับร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำประกอบด้วย ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้าการส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ...)พ.ศ. ....  ขึ้น โดยมีสาระสำคัญของร่างประกาศ คือกำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้วให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ซึ่งในการป้องกันอันตรายผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้มีการตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันอันตรายจากการมีวัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกายตามที่กฏหมายกำหนด

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ปรึกษารมช.เกษตรฯกล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรและประชาชนก็ยังสับสนในเรื่องของการจัดการสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเมื่อ  22 พ.ย. 2562  ที่ออกมายังไม่มีการรับรองมติ เป็นผลให้ต้องไปใช้มติเดิมเมื่อ   23 พ.ค.  60  และประกาศกระทรวงเกษตรฯ  5 เม.ย. 2560  ที่จำกัดการใช้และต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ใช้ และอบรมการใช้ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส   ขอให้กรมวิชาการเกษตร ทำรายละเอียดเพื่อให้ขึ้นไว้ในเวบไซด์ของกรมเพื่อให้ประชาชนรับทราบ

นอกจากนั้นประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 เม.ย. 60 กำหนดให้กรมวิชาการเกษตรต้องมีการตรวจสอบให้ร้านจำหน่ายต้องมีการแยก 3 สารเคมีไว้ในจุดจำหน่ายที่แยกจากสารเคมีทั่วไป การติดฉลากที่ชัดเจน และการตรวจสอบทะเบียนผู้อนุญาตให้ใช้สารเคมีได้โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้ฤดูการผลิต สำหรับสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ตัว ณ  22 ม.ค.63 รวม 22,534 ตัน เป็นพาราควอต 10,234 ตัน ไกลโฟเซต 10,500  ตัน  คอลร์ไพริฟอส 1,700  ตัน  มีร้านค้าจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียน  13,221 แห่ง

ในขณะที่เครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งได้มาร่วมรับฟังคำแถลงกล่าวว่า ได้เตรียมยื่นมาตรา  157  ต่อรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม  อีกทั้งเรียกร้องว่าขอให้ กรมวิชาการเกษตร ทำรายละเอียดในการปฏิบัติสำหรับประชาชนและเกษตรกรที่จะใช้สารเคมี 3 ตัวด้วยเพราะในขณะทีกลุ่มเครือข่ายที่ติดตามและเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็ยังสับสนในเรื่องนี้  จึงเห็นว่าหน่วยราชการไม่ควรจะนิ่งเฉยกับการชี้แจงต่อประชาชน

ทั้งนี้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯกำหนดให้การนำเข้า  ส่งออก และนำผ่านซึ่งวัตถึอันตรายต้องดำเนินการในด้านศุลกากรที่กำหนดรายชื่อตามที่กำหนดเท่านั้น  เช่นสำนักงานด่านศุลกรท่าเรือกรุงเทพ ด่านสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

นอกจากนั้นยังออกร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ.  ที่กหนดให้การโฆษณาสรรพคุณต้องเป็นไปโดยข้อเท็จจริงไม่อวดอ้างเกินจริง มีการแสดงคำเตือน  และกำหนดวิธีการใช้ กำหนดวันเก็บเกี่ยวและกรณีวัตถุอันตรายสูงห้ามให้มีการโฆษณา