posttoday

ออกกฏเหล็กซื้อขายข้าวจีทูจี ต้องโปร่งใส หวั่นเกิดซ้ำรอยปัญหาทุจริต

04 กุมภาพันธ์ 2563

นบข.กำหนดแนวปฏิบัติขายข้าวจีทูจีป้องกันทุจริต ระบุหน่วยงานซื้อขายข้าวกับรัฐ ต้องมีหลักฐานเป็นตัวแทนรัฐบาลประเทศคู่ค้าชัดเจน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2563 รับทราบแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government:จีทูจี) ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(นบข.) เสนอ เพื่อให้การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใสมากขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการค้าข้าวของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่จะทำสัญญาซื้อขายข้าวกับรัฐบาลไทยจะต้องเป็นหน่วยงานรัฐบาลหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดำเนินการแทนรัฐบาลเท่านั้น เว้นแต่บางประเทศมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เจรจาและทำสัญญาซื้อขายข้าวเพียงหน่วยงานเดียว

ทั้งนี้ในการทำสัญญาซื้อขาย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาหรือเข้าร่วมการประมูลแบบจีทูจี และลงนามทำสัญญาซื้อขายข้าวในนามรัฐบาลไทย ส่วนสาระของการเจรจา อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศต้องนำเสนอปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ นบข. พิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขาย การเจรจาต่อรองราคา การตกลงเงื่อนไขในสัญญา แนวทางจัดหาข้าวเพื่อส่งมอบ ก่อนการดำเนินการ ในกรณีที่ข้าวในสต็อกรัฐบาลไม่เพียงพอ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาข้าวเพิ่มเติมและส่งมอบตามสัญญา และกรณีรัฐบาลไม่มีข้าวในสต็อกที่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดหาและส่งมอบข้าวตามสัญญา

สำหรับการชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การเปิด Letter of Credit (L/C)และการโอนเงินระหว่างประเทศ (Telegraphic Transfer:T/T) เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบที่มาของเงินได้ โดยมีเอกสารหลักฐานการทำธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารทั้งของไทยและธนาคารของประเทศคู่ค้า

การส่งมอบข้าว รัฐบาลไทยจะต้องมีการส่งออกข้าวไปประเทศคู่ค้าจริง โดยมีหลักฐานสำคัญคือ ใบอนุญาตให้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแบบ อ.2 (สินค้าข้าว) ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศที่ระบุว่าเป็นการส่งออก “ข้าวรัฐบาล”

นอกจากนี้ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์มและ แฟรกชันของน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าและนำผ่าน พ.ศ.. เพื่อกำกับดูแลการนำเข้าและนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มให้เกิดประสิทธิภาพโดยเร็ว ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าจะส่งกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเข้ามาสวมสิทธิ์ทำให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศตกต่ำ

ทั้งนี้ได้กำหนดด่านนำเข้าและนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มไว้ดังนี้ 1.ด่านนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม จำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านศุลกากรมาบตาพุด สำนักงานศุลกากรกรุงเทพฯ และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง

2.ด่านนำผ่านสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ด้านต้นทาง จำนวน 1 ด่าน คือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ และกำหนดด่านปลายทางสำหรับการนำผ่านน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มไปยังแต่ละประเทศ คือ ด่านศุลกากรจันทบุรี เป็นด่านปลายทางไปยังกัมพูชา ด่านศุลกากรหนองคาย เป็นด่านปลายทางไปยังลาว และ ด่านศุลกากรแม่สอด เป็นด่านปลายทางไปยังเมียนมา