posttoday

บีโอไอส่องเส้นทางธุรกิจ“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย

25 ธันวาคม 2562

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมมือกับสภาหอการค้าไทย-กัมพูชา ได้จัดกิจกรรมนำนักลงทุนไทยเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีกิจกรรมเข้าพบหารือหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสรรหาความร่วมมือระหว่างกัน สร้างเครือข่าย ขยายตลาดและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย กับ ผู้ประกอบการกัมพูชาและเวียดนาม ศึกษาเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมมือกับสภาหอการค้าไทย-กัมพูชา ได้จัดกิจกรรมนำนักลงทุนไทยเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีกิจกรรมเข้าพบหารือหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสรรหาความร่วมมือระหว่างกัน สร้างเครือข่าย ขยายตลาดและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย กับ ผู้ประกอบการกัมพูชาและเวียดนาม ศึกษาเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ

ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานในพื้นที่ เส้นทาง 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา และจังหวัดเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม ในช่วงระหว่างวันที่ 21 - 25 ตุลาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโอกาสและศักยภาพการลงทุนของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเมือง ดังนี้

1.กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)ประเทศกัมพูชา กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน มีเนื้อที่ 1,963.2 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปทั่วประเทศ มีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ ตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางของการเมือง วัฒนธรรม และศูนย์ราชการของประเทศ มีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรก คือ Royal University of Phnom Penh (RUPP) ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศ

ทั้งนี้คณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ Mr.Kem Sithan, Secretary of State, Ministry of Commerce โดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา มีบทบาทหลัก ได้แก่ การดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ คุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา เจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออกสินค้า ข้อตกลงต่างๆ และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจของกัมพูชามีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

บีโอไอส่องเส้นทางธุรกิจ“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย

ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามายังไทย เมื่อเทียบกับปี 2560 แล้วมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้าประเภทเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผลไม้) สินค้าประเภทเครื่องหนัง และเสื้อผ้า ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องมือและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ น้ำมัน และสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร

สำหรับโอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในกัมพูชา ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กิจการโรงสีข้าวและคัดคุณภาพ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร เพื่อรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการเข้าไปค้าขายในกัมพูชา คือ การมีชายแดนระหว่างกันเป็นระยะทางยาว ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชามีจุดผ่านแดนถาวร จำนวน 7 แห่ง ที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และยังมีจุดผ่านแดนชั่วคราวหรือจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวอีก 4 แห่ง

อุตสาหกรรมที่อยากให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปพืชเกษตร โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่ว และงา ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีศักยภาพของกัมพูชา และการจัดตั้งธุรกิจในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้ 100% โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นร่วมกับคนท้องถิ่น ในส่วนของสิทธิในการถือครองที่ดินสำหรับต่างชาตินั้น กัมพูชาไม่อนุญาตให้ซื้อที่ดินได้ ดังนั้น ชาวต่างชาติหรือนิติบุคคลสามารถเช่าที่ดินระยะสั้นหรือสามารถต่ออายุได้โดยมีกำหนดระยะเวลาเช่าสูงสุด 50 ปี และต่ออายุได้ไม่จำกัดครั้ง ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานกัมพูชาอยู่ที่ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นการกำหนดใช้เฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

2. จังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ประเทศเวียดนาม จังหวัดเกิ่นเทอ เป็นหนึ่งใน 5 มหานครขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศเวียดนาม รองจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ทางภาคใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ห่างจาก นครโฮจิมินห์ ลงไปทางใต้ประมาณ 170 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,401.6 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจังหวัดอันยาง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดด่งท้าป ด้านตะวันออกติดกับจังหวัดหวินห์ลอง ด้านทิศใต้ติดกับจังหวัดเหิ่วยาง

และด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ติดกับจังหวัดเกียนยาง จังหวัดเกิ่นเทอเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของทั้ง 13 จังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เปรียบเหมือนเมืองหลวงของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ การค้า การเงิน การบริการ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ศักยภาพที่สำคัญของจังหวัดเกิ่นเทอคือ มีพื้นที่โดยรอบของเมืองเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรม ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านการลงทุนคือ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในจังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และสามารถเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้โดยง่าย มีจำนวนประชากรจำนวนมาก และมีแรงงานที่มีทักษะดีจำนวนมาก สำหรับอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดเกิ่นเทอคือ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามได้เข้าพบ ท่านอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ โดยภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งการค้าและการผลิตในเวียดนามมีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น แรงจูงใจทางภาษี และนโยบายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ จำนวนประชากรขนาดใหญ่ ซึ่งโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เศรษฐกิจการค้ามีสัดส่วนร้อยละ 34.5 ของ GDP เป็นที่ตั้งของธุรกิจ จำนวน 296,929 บริษัท มีอัตราว่างงานร้อยละ 3.95 มีสนามบินระหว่างประเทศ 1 แห่ง ท่าเรือ 38 ท่า และเขตอุตสาหกรรม 22 แห่ง และได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในปี 2561 ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดยสินค้าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ และชิ้นส่วน 2. เสื้อผ้าและสิ่งทอ 3. คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ 4. เครื่องจักรและเครื่องมือ 5. รองเท้า ซึ่งตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา

ด้านโอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในเวียดนาม ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสูง เนื่องจากมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) เพิ่มมากขึ้น การลงทุน โดยตรงในเวียดนามในช่วง วันที่1 มกราคม – 20 มิถุนายน 2562 เวียดนามมีโครงการใหม่จากต่างประเทศทั้งหมด 1,723 โครงการ มูลค่า 18,468.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนสะสมของประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด ได้แก่ 1.เกาหลีใต้ (64,551.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 2. ญี่ปุ่น (57,899.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 3. สิงคโปร์ (49,161.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ไทยได้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการผลิต 2. อุตสาหกรรมเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง 3. ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง 4.0 อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง