posttoday

สงครามการค้าพ่นพิษ ฉุดส่งออกสินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์วูบ ส่งออกติดลบ 5%

24 ธันวาคม 2562

ส่งออกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปี 62 วูบ ติดลบ 4% หลังยอดส่งออก 7 เดือนแรกติดลบ 5% เซ่นพิษสงครามการค้า เร่งปั้นคนรับทุนจีนไหลเข้าไทย พร้อมเผยเทรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะในอนาคต 

ส่งออกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปี 62 วูบ ติดลบ 4% หลังยอดส่งออก 7 เดือนแรกติดลบ 5% เซ่นพิษสงครามการค้า เร่งปั้นคนรับทุนจีนไหลเข้าไทย พร้อมเผยเทรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะในอนาคต 

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตลดลงจากปีก่อน 4% เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักป้อนตลาดจีน จึงได้รับผลโดยตรงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในรอบ 7 เดือนแรก มีมูลค่า 1.25 ล้านล้านบาท ( 35,897 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.32 ล้านล้านบาท (37,956 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมดังกล่าวในปี 2563 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงไม่มีปัจจัยสนับสนุนมากนัก จึงมองว่าการเติบโตน่าจะทรงตัว โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสองชาติ เอกชนในจีนจึงมองเรื่องการย้ายฐานผลิตมายังไทยและเวียดนาม ซึ่งในปีนี้ในไทยเริ่มเห็นแล้วในหมวดหมู่อุตสาหกรรมอุปกรณ์ส่องสว่างกับหลอดไฟ ทำให้ปีหน้าจะสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯมากขึ้น ส่วนการที่เอกชนจะเลือกย้ายฐานลงทุนไปยังประเทศไหนนั้นมีข้อจำกัดแตกต่างกัน ไทยมีแรงงานทักษะสูงต่ำ แต่เวียดนามมีแรงงานด้านเทคนิคมาก ทว่าติดขัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กำลังการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

การพัฒนาบุคลากรมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ วางรากฐานทางเศรษฐกิจระยะยาวดังนั้นภาครัฐจึงมีแผนเพิ่มจำนวนบุคลากร โดยการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ การอบรม และการทดสอบ เพื่อออกใบรับรองสาขาอาชีพไฟฟ้าและสาขาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูง โดยผ่านความร่วมมือของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดังนั้นเป้าหมายการผลิตบุคลากรจะเข้าไปยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยให้เป็น สาร์ทเอสเอ็มอี ช่วยเกษตรกรให้เป็นสาร์ทฟาร์มเมอร์ ตลอดจนปรับแรงงานการผลิตไปสู่ยุค smart factory ล้วนเป็นเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ตามยุทธศาสตร์ชาติ

นายณรัฐกล่าวอีกว่า ส่วนด้านเทรนด์ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตนั้นจะมาในรูปแบบ Smart and Connect เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับเครื่องใช้อื่นได้ ผ่านบลูทูธ (Blue Tooth) หรือเทคโนโลยีไอโอที (Internet of thnigs) เช่น แอร์ที่เปิดตามอุณหภูมิของห้องที่กำหนดไว้ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สั่งการผ่านมือถือ หุ่นยนต์ในบ้าน ตลอดจนเทคโนโลยี Smart Home Devices ที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง อาทิ การปิดและเปิดสวิทซ์ไฟ