posttoday

ลุ้นบอร์ด กสทช. 24 ธ.ค.นี้ เคาะคลื่นความถี่ประมูล 5จีปีหน้า

18 ธันวาคม 2562

กสทช. เตรียมเสนอ 3 คลื่นเข้าบอร์ด 24 ธ.ค.นี้ เคาะเปิดประมูล 16 ก.พ. 63 คาดมูลค่าคลื่นรวมกันไม่ต่ำกว่า 134 แสนล้านบาท ด้าน 3 ค่ายมือถือเอกชน ยังไม่รับปากร่วม-ไม่รวม แนะรัฐควรมีแนวทางสนับสนุน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ลงทุนสูง แต่ต้องรอเวลาเก็บเกี่ยวรายได้ 4-5 ปี

กสทช. เตรียมเสนอ 3 คลื่นเข้าบอร์ด 24 ธ.ค.นี้ เคาะเปิดประมูล 16 ก.พ. 63 คาดมูลค่าคลื่นรวมกันไม่ต่ำกว่า 1.34 แสนล้านบาท ด้าน 3 ค่ายมือถือเอกชน ยังไม่รับปากร่วม-ไม่รวม แนะรัฐควรมีแนวทางสนับสนุน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ลงทุนสูง แต่ต้องรอเวลาเก็บเกี่ยวรายได้ 4-5 ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงาน 5G The New Beginning พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ว่าในวันที่ 24 ธันวาคม นี้ เตรียมเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช. ให้พิจารณาอนุมัติคลื่นความถี่ที่เตรียมนำมาประมูล 5จี ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าจะมีในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจะนำเสนอคลื่นใน 3 ย่านความถี่ ได้แก่ 1800 เมกะเฮิรต์ซ, 2600 เมกะเฮิร์ตซ และ 260 กิกะเฮิร์ตซ ส่วนย่านความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ ซึ่งเดิมอยู่ในแผนการได้ตัดทิ้งออกไปแล้ว

ทั้งนี้ ต้องรอผลสรุปในวันดังกล่าวว่าจะมีการอนุมัติออกมาทั้ง 3 ย่านความถี่หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้น กสทช. ประเมินมูลค่าใบอนุญาตที่จะได้จากการประมูลทั้ง 3 คลื่นไว้กว่า 1.34 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคาดการณ์ว่า ไม่น่าจะมีผู้สนใจประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ เนื่องจากยังไม่สามารถพัฒนาสู่ระบบ 5จี ได้ในทันที ต้องรอระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบ 4จี อีกราว 1-2 ปี

โดยประมาณการณ์รายได้จากการขายใบอนุญาตเฉพาะในส่วนของอีก 2 ย่านความถี่ไว้ ดังนี้ 2600 เมกะเฮิร์ตซ ใบอนุญาต 19 ชุดๆ ละ 10 เมกะเฮิร์ตซ รวม 35,378 ล้านบาท และคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ จำนวน 4 ชุดๆ ละ 100 เมกะเฮิร์ตซ รวม 1,692 ล้านบาท

"อยากให้เอกชนรีบมารับเอกสารกันตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม จนถึงสิ้นเดือน ไม่อยากให้รีรอและเสียโอกาส และควรสั่งซื้ออุปกรณ์รอไว้เลย เพราะเมื่อมีการให้ใบอนุญาตในเดือนมีนาคม 2563 จะได้เดินหน้าติดตั้งโครงข่ายได้ทันที อยากให้สามารถเปิดบริการได้ก่อนที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม ปีหน้า" นายฐากรกล่าว

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจ สัมพันธ์และองค์กร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การจะร่วมประมูลใบอนุญาต 5จี หรือไม่นั้น คงต้องรอผลสรุปจากบอร์ดของบริษัท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม public hearing ซึ่ง กสทช. จัดขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาเปิดประมูล 5จี

โดยเรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ โดยในย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครประมูลเพราะราคาแพง ซึ่งในการประมูล 5จี ที่จะมีขึ้นนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีผู้สนใจหรือไม่ ส่วนอีก 2 ย่านความถี่ก็ยังมีปัญหาอยู่ 2.ระยะเวลาและความเหมาะสมในกระบวนการประมูล เสนอแนะให้ควรมีการทดสอบ ทดลองก่อนให้ประมูลขอใบอนุญาต

และ 3.การกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้ร่วมประมูล (Pre-qualification of Potential Bidder) ซึ่งมองว่าเป็นข้อสำคัญสุด เพราะเงื่อนไขปัจจุบันจะมี บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เข้าประมูลด้วย โดยทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรัฐ และไม่น่ามาทำแข่งเอกชนในเรื่องบริการที่เป็น last-mile แต่ควรไปทำด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อร้อยสาย ใยแก้วใต้น้ำ ดาวเทียม

นอกจากนี้ มองว่าควรขึ้นบัญชีดำกับเอกชนรายที่เคยประมูลคลื่นความถี่ได้แล้วทิ้ง จนสร้างผลกระทบให้ราคาคลื่นสูงเกินเหตุ และคลื่น 1800 จึงเหลือค้างอยุ่ไม่มีผู้ประมูลอีก

นางอเล็กซานดร้า ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมนูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า เชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก 5จี แต่สิ่งหนึ่งที่อยากแชร์ก็คือ 5จี ไม่ใช่แค่การวางเครือข่าย แต่จำเป็นที่ต้องมีภาคธุรกิจในไทยช่วยสร้างให้มีการใช้งาน (ยูสเคส) ควบคู่ไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโต

โดยหนึ่งในจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้ คือ จะทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์ หากมีการทำงานร่วมกันเป็นอีโคซิสเต็ม จะสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภคในเรื่องประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนความเร็วในการพัฒาบริการสู่ตลาด

"5จี ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี หรือ แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องของวิธีการทำงานที่จะมีการปรับเปลี่ยนโดยใช้ประโยชน์จากการมี 5จีในประเทศไทย ต้องไม่หยุดการพัฒนา เราอยู่ที่ประเทศนี้เพื่อสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับ 5จี ในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มซึ่งจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้" นางอเล็กซานดร้า กล่าว

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความแตกต่างของ 5จี เมื่อเทียบกับการพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายตั้งแต่ 1จี-4จี ก็คือ เทคโนโลยีก่อนหน้านี้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ 5จี จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะจากจุดเด่นด้านความเร็ว และความหน่วงต่ำที่ทำให้อุปกรณ์จำนวนมากสามารถสื่อสารกันได้ในความเร็วระดับเสี้ยววินาที เกิดโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในวันนี้ก็คือ คลื่นนความถี่ เพราะจะเกิด 5จี ได้ต้องมีคลื่นความถี่ และการจะใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้จริงตามเทคโนโลยีนั้น ผู้ให้บริการ 5จี แต่ละรายจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่อยู่ในมือจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 เมกะเฮิรตซ์

ขณะที่ เมื่อพิจารณาจากบางย่านความถี่ที่ กสทช. เตรียมไว้เปิดประมูลใบอนุญาต มีจำนวนรวมกันแล้วแค่ 190 เมกะเฮิร์ตซ จึงอาจนำมาซึ่งการแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อชิงคลื่นความถี่ไว้ในมือให้ได้ถึงระดับ 100 เมกะเฮิร์ตซ จนส่งผลให้ราคาประมูลคลื่นแพงอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะไม่ได้ประโยชน์ในแง่ต้นทุนดังที่ภาครัฐคาดหวังไว้กับการเปิด 5จี

ดังนั้น มองว่าควรรอให้มีความพร้อมของจำนวนย่านความถี่ที่เหมาะสม โดยรอนำคลื่นความถี่ที่ใกล้หมดสัมปทานอีกใน 2 ปีข้างหน้ามารวมด้วย แล้วค่อยเปิดประมูลพร้อมกันจะดีกว่าหรือไม่ เพราะในความเห็นส่วนตัว จำนวนคลื่นที่เตรียมไว้ขณะนี้ไม่เพียงพอสำหรับเอกชน 5 ราย ในการประมูลตามที่กำหนดไว้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปีหน้าอย่างแน่นอน ดังนั้นจะไม่เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง