posttoday

จ่อชง ครม. ลดค่ารถไฟฟ้า-ค่าทางด่วน เพิ่มยอดผู้โดยสาร 1 หมื่นคนต่อวัน

11 ธันวาคม 2562

บอร์ดรฟม. เคาะมาตรการลดค่ารถไฟฟ้า 52% ลดค่าทางด่วน 5 บาททั้งวัน 6 ด่าน พร้อมชะลอโปรตั๋วเหมาเที่ยว คาดลดค่ารถติดได้เดือนละ 38 ล้านบาท พร้อมสั่งกรมรางแก้แออัดสถานีเตาปูนรับผู้โดยสารโต

บอร์ดรฟม. เคาะมาตรการลดค่ารถไฟฟ้า 52% ลดค่าทางด่วน 5 บาททั้งวัน 6 ด่าน พร้อมชะลอโปรตั๋วเหมาเที่ยว คาดลดค่ารถติดได้เดือนละ 38 ล้านบาท พร้อมสั่งกรมรางแก้แออัดสถานีเตาปูนรับผู้โดยสารโต

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่ารถไฟฟ้า 52% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 17 ธ.ค. นี้

พร้อมกับมาตรการลดค่าทางด่วน 10% หรือราว 5 บาท ตลอดทั้งวัน6 ด่าน ที่จะลดค่าทางด่วน 5 บาทต่อเที่ยวนั้น ประกอบด้วย ทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 คือ ด่านฯดินแดง, ด่านฯดาวคะนอง, ด่านฯบางนา, ด่านฯบางจาก, ด่านฯประชาชื่นขาเข้า และด่านฯอโศก 4 ซึ่งมาตรการลดค่าทางด่วนและค่ารถไฟฟ้าจะมีระยะเวลา 3 เดือน ลดค่ารถไฟฟ้าระหว่างวันที่ 25 ธ.ค. - 31 มี.ค. 2563 ขณะที่ทางด่วนจะลดราคาระหว่าง 6 ม.ค. - 6 มี.ค. 2563

นายสราวุธกล่าวต่อว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องการให้ลดค่าโดยสารตลอดทั้งวันไม่มีช่วง Off-Peak จึงปรับแผนลดค่าโดยสารใหม่ เป็นการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดทั้งวัน เหลือ 20 บาทตลอดสาย จากเดิมราคาสูงสุด 42 บาท ลดลง 22 บาท คิดเป็น 52%

โดยใช้ได้ทั้งบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token) ขณะที่โปรโมชั่นลดราคาค่ารถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินแบบตั๋วเดือนเหมาเที่ยวนั้นชะลอ ออกไปก่อนจะมีการพิจารณาอีกที เม.ย. 2563 หลังเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินเต็มรูปแบบ

นายสราวุธกล่าวต่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มยอดผู้โดยสารได้ราว 18% คิดเป็นยอดรวมผู้ใช้เพิ่มขึ้น 10,000 คนต่อวัน เป็นแนวทางการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาจราจร

ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจให้กับประชากรเมืองหลวงรวม 38 ล้านบาทต่อเดือน อาทิ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง 12 ล้านบาทต่อเดือน ลดค่าเสียเวลารถติด 14 ล้านบาทต่อเดือน และมูลค่าความสุขที่เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาทต่อเดือน เป็นต้น

ขณะที่ค่าโดยสารที่จะเก็บได้ลดลงราว 15 ล้านบาทต่อเดือนนั้น จะไม่กระทบกับงบประมาณภาครัฐเพราะ รฟม.จะเป็นผู้อุดหนุนโดยใช้รายได้และกำไรของงานบริหารรถไฟฟ้าที่มีรายได้ปีละ 3,500 ล้านบาท

นายสราวุธกล่าวอีกว่าสำหรับความกังวลเรื่องผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจะเข้ามาซ้ำเติมปัญหาความแออัดบนสถานีนั้นกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมขนส่งทางรางเข้าไปควบคุมคุณภาพของงานบริการเอกชน โดยเฉพาะสถานีที่เป็น Interchange อย่างเตาปูน ต้องให้รถไฟฟ้าสองสายมาถึงในเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อความคล่องตัวของปริมาณผู้โดยสารไปจนถึงเรื่องการบริหารจุดรอคิวเคาน์เตอร์ขายตั๋วโดยสาร