posttoday

ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง 'อีอีซี โมเดล' นัดแรก

04 ธันวาคม 2562

เคาะ 4 แนวทางพัฒนาคนในพื้นที่อีอีซี ชี้ความต้องการแรงงานทักษะสำคัญกว่า 4.7 แสนอัตราใน 5ปีข้างหน้า ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ดิจิทัล โลจิสติกส์ และ อิเล็กทรอนิกส์

เคาะ 4 แนวทางพัฒนาคนในพื้นที่อีอีซี ชี้ความต้องการแรงงานทักษะสำคัญกว่า 4.7 แสนอัตราใน 5ปีข้างหน้า ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ดิจิทัล โลจิสติกส์ และ อิเล็กทรอนิกส์

รายงานข่าว เผยว่าการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/ 2562 โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน ได้พิจารณา และรับทราบความคืบหน้า ขั้นตอนการดำเนินงานการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในระยะเวลา 2 ปี

แนวทางการสนับสนุนบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ อีอีซี การสอนภาษาอังกฤษเชิงเทคนิคด้วยระบบ CLIL (สนับสนุนให้ครูผู้สอนไทย -อังกฤษทำงานร่วมกัน เพื่อให้วิชาชีพต่างๆ ใช้ทำงานในอนาคต) เพื่อสร้างอาชีวะอินเตอร์ และการพัฒนาบุคลากรในหลักสูตรระยะสั้น ให้รู้เท่าทันและเชี่ยวชาญเทคโนโลยี โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1. ความคืบหน้าในการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี ในระยะเวลา 2 ปี ตามหลักการ Demand Driven (ความต้องการแรงงานตรงอุตสาหกรรม) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการวิเคราะห์และสรุปความต้องการกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน อีอีซี

โดยคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) พบว่าในช่วง 5 ปี (2562-2566) มีความต้องการแรงงานทักษะสำคัญ จำนวน 475,793 อัตรา อุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ ดิจิทัล ร้อยละ 24 จำนวน 116,222 ตำแหน่ง โลจิสติกส์ ร้อยละ 23 จำนวน 109,910 ตำแหน่ง และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ร้อยละ 12 จำนวน 58,228 ตำแหน่ง

โดยที่สำคัญ และเป็นครั้งแรกในการร่วมบูรณาการ การทำงานร่วมกันถึง 3 กระทรวง ได้แก่
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างใกล้ชิดและ เป็นรูปธรรม ตามนโยบาย Demand Driven เน้นการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่

ทั้งกลุ่มการศึกษาพื้นฐาน ที่ปรับปรุงทักษะด้านภาษา และการศึกษาด้าน Coding, (การลงรหัส) กลุ่ม STEM (สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ คณิตศาสตร์) ขณะที่ ระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ปรับสู่ Demand Driven Education ที่มีการจัดการศึกษาในแบบ EEC Model Type A

ภายใต้ 3 หลักการ คือ 1.ลดการศึกษาแบบแก่งแย่ง แตกแยก สู่ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยกำหนดตามความถนัดของแต่ละราย 2. ช่วยพัฒนาการศึกษาและบุคลากรให้มีมาตรฐานตามหลักสากล

และ 3.ร่วมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างภาครัฐกับเอกชนในสัดส่วน 50:50 และเอกชนบริจาคอุปกรณ์ชั้นสูง เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม

นอกจากนี้นโยบาย Demand Driven ยังช่วยลดภาระของทุกฝ่าย เช่น ภาคเอกชน ได้ลดค่า
ใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีถึง 2.5 เท่า ภาครัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนน้อยลง เพราะไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ ส่วนผู้เรียน ลดภาระทางการเงิน เรียนจบมีงานที่มีรายได้ดี

นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถกำหนดทิศทางและวางแผนชีวิตในอนาคตได้อย่างชัดเจนอีกด้วย โดยปัจจุบัน มีสถาบันเข้าร่วมล่าสุด คือ สถาบันอาชีวะในภาคตะวันออกเข้าร่วมจำนวน 12 แห่ง และปีการศึกษา 2562 มีผู้เข้าเรียนในระบบดังกล่าว จำนวน 1,117 คน

ทั้งนี้ EEC-HDC ตั้งเป้าหมายว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องปฏิรูปหลักสูตรของสถานศึกษาในพื้นที่ อีอีซีอย่างน้อยร้อยละ 80 ให้เป็นไปตามหลักสูตรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล ที่ผ่านมามีการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว 1 หลักสูตร

ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาปัญญาประดิษฐ์ประยุกต์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 1 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ขณะที่ภายในปีการศึกษา 2564 จะมีหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่กำลังปรับปรุงให้เป็นไปตาม EEC Model Type อีกไม่น้อยกว่า 100 หลักสูตร

2. แนวทางการสนับสนุนบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่อีอีซี เพื่อกระจายโอกาสสู่ชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่อีอีซี จึงได้เปิดรับสมัครคัดเลือกบัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี จำนวน 120 คน

ทั้งนี้ เพื่อเข้าฝึกอบรม 2 เดือน จากนั้นเข้าทำงานใน 30 อำเภอ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยทำงานร่วมกับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ซึ่งบัณฑิตอาสารุ่นแรกคาดว่าจะมีประมาณ 30 คนจาก 3 จังหวัดใน อีอีซี เริ่มภายในเดือนมกราคม 2563

3. การสอนภาษาอังกฤษเชิงเทคนิคด้วยระบบ CLIL เพื่อสร้างอาชีวะอินเตอร์
การดำเนินการในระยะแรก (ตุลาคม 2562-มีนาคม 2563) ได้พัฒนาการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาใน 10 สาขาวิชา ครอบคลุมสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐ 37 แห่ง ในภาคตะวันออก มีครูเข้าร่วมอบรม 400 คน

เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้เรียนให้ทัดเทียมสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพของตนเองได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มในการทำงานที่มีรายได้สูงในอนาคต โดยใช้วิธีการ Content-Language Integrated Learning (CLIL) เทคนิคการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษาอังกฤษให้เข้ากับเนื้อหาวิชาชีพในทุกวิชา

ซึ่งถอดบทเรียนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ที่นำเทคนิคนี้ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ ด้วยการสร้างความเข้าใจและปรับความคิดผู้บริหารให้เห็นถึงความจำเป็นของ CLIL การพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของครูช่าง และปรับสภาพแวดล้อมด้านภาษาอังกฤษในสถานศึกษา

สำหรับในระยะต่อไป จะเตรียมการจัดตั้งศูนย์การพัฒนาความรู้ด้านภาษาอังกฤษเชิงวิชาชีพ ในมหาวิทยาลัยบูรพา

4. การพัฒนาบุคลากรในหลักสูตรระยะสั้นให้รู้เท่าทันและเชี่ยวชาญเทคโนโลยี
เครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อีอีซี ได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ ทั้งด้าน อีคอมเมิร์ซ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ MICE โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้ว จำนวน 2,000 คน ในปี 2562

นอกจากนี้ เพื่อดำเนินการจัดอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร จำนวน 10,000 คน ภายใน 4 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยหลักสูตรระยะสั้นจำนวน 68 หลักสูตร EEC-HDC ได้หารือบริษัทข้ามชาติชั้นนำระดับโลก

ทั้ง Huawei (หัวเว่ย และ Microsoft ไมโครซอฟท์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ Oracle, ออราเคิ่ล Cisco ซอสโก้ และ Google กำลังอยู่ในระหว่างการหารือ โดยบริษัทเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สอนชาวต่างชาติ และค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ

ขณะเดียวกันได้กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น (Reskills ปรับทักษะ /Upskills เพิ่มทักษะ) ซึ่งตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 120 หลักสูตร จำนวน 20,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของความต้องการกำลังคนในปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท