posttoday

ปัดฝุ่นโปรเจ็คท่าเรือปากบารา-สงขลา เปิดเอกชนลงทุน PPP 1.7 หมื่นล้าน

03 ธันวาคม 2562

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้าผลักดันลงทุนท่าเรือน้ำลึก 1.7 หมื่นล้านบาท ทั้งปากบารา-สงขลา เล็งเปิดเอกชนร่วมทุน PPP หวังชิงเค้กขนส่งทางน้ำช่องแคบมะละกา ลดต้นทุนผู้ประกอบกการ

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้าผลักดันลงทุนท่าเรือน้ำลึก 1.7 หมื่นล้านบาท ทั้งปากบารา-สงขลา เล็งเปิดเอกชนร่วมทุน PPP หวังชิงเค้กขนส่งทางน้ำช่องแคบมะละกา ลดต้นทุนผู้ประกอบการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้กรมเจ้าท่า(จท.)ว่าได้มอบนโยบายให้ จท.ไปฟื้นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมามีกระแสต้านทำให้โครงการนี้ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นอีกนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีที่มีความพยายามต้องการให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ได้เร่งรัดการลงทุนท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เช่นเดียวกันให้เห็นถึงศักยภาพของท่าเรือแห่งนี้ เพราะผลการศึกษาต่างๆทางจท.มีข้อมูลอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งงบประมาณของปี 2563 แต่เชื่อว่าถ้าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ ส่วนการหาแหล่งเงิน นั้น มีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) หรือให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน PPPเป็นต้น

“โครงการนี้จะเกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าการขนส่งทางทะเล ทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลงได้ จึงได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) ดำเนินการเพื่อให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่จะต้องศึกษาทั้งผลดีและผลเสียทุกมิติ รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญใมนการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย "นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการปากบารา ถือว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มากมาย และเป็นโครงการที่ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้น รัฐมนตรีทั้ง 3 คนของกระทรวงคมนาคมจะร่วมกันในการผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น และจะต้องช่วยในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ก็ตาม โดยจะนำผลการศึกษาที่มีอยู่เดิมมาพิจารณาทบทวน และอาจต้องมีการเริ่มศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ก็ต้องดำเนินการ เรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้ศึกษาออกแบบแล้วและเข้ากระบวนการผลักดันตั้งแต่ปี 2560-2561แต่ถูกต่อต้านจากชาวบ้านท้องถิ่นและองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) จนไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความเห็นขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบ หรือ ค.1 ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนและจัดทำรายงาน หรือ ค.2 และ การรับฟังความคิดเห็นและทบทวนรายงาน หรือ ค.3 จนไม่สามารถสรุปรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ได้อีกทั้งรัฐบาลยังต้องการให้ลดความขัดแย้งของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย

ขณะที่แผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสงขลานั้นคงจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน คือรัฐบาลจะสั่งให้ชะลอแผนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถผ่าน ค.1 เพราะโดนต่อต้านจากคนในพื้นที่เช่นเดียวกับที่ปากบารา อีกทั้งยังมีการปลุกกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าที่กลัวว่าจะมาพร้อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาอีกด้วย

ด้านรายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า(จท.) ระบุว่า เส้นทางขนส่งแลนด์บริดจ์ท่าเรือสงขลา-ปากบารา-ปีนัง(มาเลเซีย)นั้นเป็นเกทเวย์ขนส่งสินค้าแทนที่ช่องแคบมะละกา กลุ่มชาติมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลประโยชน์ในด้านการประหยัดค่าใช้จ่ายจนสามารถแบ่งสัดส่วนปริมาณขนส่งสินค้าจากช่องแคบมะละกาได้จำนวนมากเพราะแลนด์บริดจ์ท่าเรือสงขลา-ท่าเรือปากบารามีระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางเดินเรือสิงคโปร์-ทะเลอินเดีย เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาถือว่าเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีการจราจรมากที่สุดในโลกด้วยจำนวนเรือราว 1 แสนลำต่อวัน จนทำให้จำนวนเรือในแต่ละปีที่ผ่านช่องแคบมะละกาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของโลก