posttoday

คนไทยเริ่มจับจ่าย!! ดันเงินเฟ้อพ.ย.สูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

02 ธันวาคม 2562

เงินเฟ้อเดือนพ.ย.ขยับ 0.21% เหตุแรงกดดันจากราคาน้ำมันลดลง ภาคประชาชนใช้จ่ายเพิ่ม ส่วหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-มาตรการอุ้มเกษตรกร ส่งผลต่อรายได้ที่ดีขึ้น

เงินเฟ้อเดือนพ.ย.ขยับ 0.21% เหตุแรงกดดันจากราคาน้ำมันลดลง ภาคประชาชนใช้จ่ายเพิ่ม ส่วหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-มาตรการอุ้มเกษตรกร ส่งผลต่อรายได้ที่ดีขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนพ.ย. 2563 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.21% ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยมีปัจจัยสำคัญจากหมวดพลังงาน ที่ปรับตัวลดลงในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน

ขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดอื่นๆ ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.47% เฉลี่ย 11 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.69% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.53%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบ 0.7 – 1.0%

ทั้งนี้การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลง โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมแล้ว ชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด

ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพ.ย. 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 2.1% ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลง 2.6% และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 7 % โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งทอ เยื่อกระดาษ และโลหะขั้นมูลฐาน โดยมีเหตุผลสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ

ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้น 3.7% แต่มีแนวโน้มชะลอตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว และผลไม้ รวมทั้งผลปาล์มสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7 บี 10 และบี 20) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย หัวมันสำปะหลัง ยางพารา และผักสด ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการยังทรงตัว โดยเฉลี่ย 11 เดือน ดัชนีราคาผู้ผลิต ลดลง 1%

อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปทานและอุปสงค์ โดยตัวชี้วัดด้านอุปสงค์ ภาคการลงทุนกับภาคการบริโภคยังมีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยตัวแปรภาคการลงทุนยังลดลง ในขณะที่ตัวแปร

ด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัวยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้งมาตรการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากหญ้า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและสามารถดำเนินการได้เต็มที่ น่าจะช่วยให้ปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป