posttoday

ไทย-ฮ่องกง เตรียมถกความร่วมมือ 3 ด้าน การค้า ท่องเที่ยว หาฐานลงทุนในไทย

28 พฤศจิกายน 2562

"สมคิด" มองอนาคตเชื่อมโยงตลาดทุนในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูง วางเป้าการค้าร่วมกันปีหน้าต้องถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์

"สมคิด" มองอนาคตเชื่อมโยงตลาดทุนในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูง วางเป้าการค้าร่วมกันปีหน้าต้องถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนา Hong Kong Business Seminar cum Networking Luncheon in Bangkok Thailand ในโอกาสที่ นางแครี่ แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมผู้บริหารฮ่องกงที่นำคณะนักธุรกิจกว่า 50 คนมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. 2562 ว่า

การที่ผู้บริหารระดับสูงของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงนำคณะนักธุรกิจที่ประกอบไปด้วยธุรกิจหลากหลายเซ็กเตอร์ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มาเยือนประเทศไทย เป็นนิมิตหมายที่ดีของการเริ่มความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและบริการที่มากกว่าอดีตที่ร่วมมือกันแต่เฉพาะการค้าขายพืชเกษตร เช่น ข้าว ที่ฮ่องกงเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของไทย

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงไทยกับฮ่องกง จะทำให้ 2 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญคืออาเซียนและ เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA)มีพลังที่พึ่งพิงกันได้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนจากสงครามการค้า โดยอาเซียนมีไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาค ส่วน GBA มีฮ่องกงเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยและฮ่องกงได้สร้างกลไกความร่วมมือในระยะยาวที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ทุกอย่างก็ยังเดินได้ตามกลไกนั่นคือการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย-ฮ่องกง(High Level Join Committee :HLJC)

โดยการประชุม HLJC ไทย-ฮ่องกงนัดแรกจะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล

"ในวันพรุ่งนี้(29 พ.ย.) จะพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายไทยจะประกอบไปด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ตลาดหลักทรัพย์ กลต. และหน่วยงานของเอกชน" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่ การหารือของทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 29 พ.ย. จะอยู่ใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.การขยายการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะการค้าที่ปัจจุบันมีการค้าระหว่างกันอยู่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2563 จะต้องเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และการขยายความร่วมมือไปสู่ภาคบริการและการเงิน สตาร์ทอัพ ครีเอทีฟ อีโคโนมี จะยิ่งสนับสนุนมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น

ประเด็นที่2 คือการวางพื้นฐานการลงทุนในไทยของนักลงทุนฮ่องกง เพราะไทยทราบว่าฮ่องกงต้องการหาฐานการผลิตขนาดใหญ่แห่งที่2 ซึ่งควรเลือกประเทศไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ มีบีโอไอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุน

ประเด็นที่3 ที่ HLJC ไทย-ฮ่องกงจะหารือคือการเชื่อมโยงตลาดทุนระหว่างการเพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีจุดเด่น โดยส่วนของไทยแม้ตลาดทุนจะขนาดเล็กกกว่าสิงคโปร์แต่ก็มีความได้เปรียบคือมีมูลค่าการซื้อขายสูงและตั้งอยู่ศูนย์กลางของ CLMV ที่มีอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนจำนวนมากและมีความต้องการระดมทุน

ขณะที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินอยู่แล้ว ความร่วมมือาจอยู่ในลักษณะของการนำบริษัทที่มูลค่าการซื้อขายสูง 50 บริษัทแรก(SET50) ไปจดทะเบียนแบบ การจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามตลาด (Cross Listing)
กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมรัฐบาลไทย และภายหลังการหารือจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) 6 ฉบับ

โดยฉบับใหญ่ที่สุด เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการพัฒนาทุกด้าน ซึ่งนายสมคิด และนางแครี่ แลม จะเป็นผู้ลงนามด้วยตัวเอง ส่วนเอ็มโอยูที่เหลือจะเป็นกรอบการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม การส่งเสริมนวัตกรรม และการพัฒนาคน การส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ การร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี การเชื่อมโยงด้านการเงิน และตลาดทุนระหว่างกัน และการส่งเสริมเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ครีเอทีฟ อิโคโนมี)รวมทั้งจะเป็นการเริ่มต้นการเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-ฮ่องกงด้วย

นายเอ็ดเวิร์ด เหยา รมว.พาณิชย์และพัฒนาเศรษฐกิจ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศต่างเผชิญกับความผันผวนทางการค้า จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือ โดยฮ่องกงเป็นเศรษฐกิจเปิดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มีในฮ่องกงจะได้รับการส่งต่อไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการเป็นฐานให้ทุกประเทศเข้าไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่

นายแพทริก โล(Patrick Lau) รองผู้อำนวยการ สภาพัฒนาการค้า เขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของฮ่องกง และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน โดยธุรกิจของฮ่องกงสนใจไทยที่รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งหากไทยและฮ่องกงเชื่อมโยงกันได้ใช้ประโยชน์จากการเติบโตของ CLMV กับ GBA กับทำให้มูลค่าการค้าและลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นแน่นอน

"ปัจจุบันการลงทุนจากจีนไปต่างประเทศ 60% ผ่านฮ่องกง และในนี้มีบางส่วนมาลงทุนในไทยด้วย และยังเป็นฮับด้านการเงิน ด้วย 79% ของการจ่ายเงินหยวนเกิดขึ้นในฮ่องกง ดังนั้นเราจะเป็นฐานสำคัญที่จะสนับสนุนการลงทุนที่เกิดขึ้นในไทยและอาเซียน" นายแพทริค กล่าว