posttoday

‘บิ๊กตู่’ สั่งลุยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG กระตุ้น GDP 1 ล้านล้านบาท

28 พฤศจิกายน 2562

สร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้เกษตรกร 2.4 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 200% ดันรายได้ท่องเที่ยวไทยโต 40% เตรียมลงทุน 7.6 แสนล้านบาท เนรมิตเศรษฐกิจใหม่ ปักหมุดระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

สร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้เกษตรกร 2.4 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 200% ดันรายได้ท่องเที่ยวไทยโต 40% เตรียมลงทุน 7.6 แสนล้านบาท เนรมิตเศรษฐกิจใหม่ ปักหมุดระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ครั้งล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ตลอดจนกระจายเม็ดเงินสู่ฐานรากและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศ โดยเน้นให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ให้จริงจังเทียบเท่ากับการผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจ EEC และไทยแลนด์ 4.0

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจใหม่ BCG ตั้งเป้าให้สามารถเพิ่มตัวเลข GDP ของไทย ให้ได้ราว 30% คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า(2564-2568) โดยจะเป็นการใช้องค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลักของประเทศทั้งเกษตร อาหาร การแพทย์ พลังงานและเคมีชีวภาพ ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่มาต่อยอดผลผลิตและสร้างอาชีพใหม่ คล้ายกับ New S-curve เป็นอุตสาหกรรมการผลิตน้อยแต่รายได้มาก (Less For More )

ทั้งนี้ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ 200% เช่น เนื้อวัวทั่วไป 250 บาท/กก. เนื้อวัวพันธุ์ดี ราคา 750 บาท/กก. หรือการเพิ่มมูลค่าชานอ้อย 1 บาท/กก. ให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ มูลค่า 260 บาท/กก. และ 1,000 บาท/กก. ตามลำดับ ตลอดจนยกระดับสินค้าหัตถกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะ เพิ่มมูลค่า 90 เท่าเพื่อขายนักท่องเที่ยว

"เศรษฐกิจใหม่ BCG เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจชาติโดยไม่ต้องใช้งบจำนวนมาก ที่ผ่านมาการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยยังด้อยประสิทธิภาพ มีแค่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบปะผุ เน้นให้เงินเกษตรกร จนทำให้ชาวบ้านเสียนิสัยและไม่เป็นผู้ผลิตที่คิดใหม่ทำใหม่เพื่อเพิ่มรายได้" ดร.สุวิทย์กล่าว

สำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG นั้น คาดว่าจะมีการลงทุนราว 760,000 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี (2564-2573) สัดส่วนรัฐ 30% และเอกชน 50% หรือ 230,000 ล้านบาทและ 530,000 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับเป้าหมายการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่จะเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำประกอบด้วย

1.เพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน 240,000 บาท/ครัวเรือน ภายใน 5 ปี เพื่อให้ไทยหลุดกับดักรายได้ปานลาง, 2.เกิดการจ้างงานใหม่ 2 ล้านคน ภายใน 5 ปี โดยเน้นแรงงานทักษะสูง. 3.กระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 10 ล้านคน ภายใน 5 ปี, 4.ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงยาและการแพทย์ อย่างน้อย 300,000 คน/ปี

5.ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตรายได้สูง BCG สร้างงาน 10 ล้านตำแหน่ง ภายใน 10 ปี, 6.ผลิตสตาร์ทอัพด้าน BCG ไม่น้อยกว่า 10,000 ผู้ประกอบการ, 7.ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร คลอบคลุม อาหารและการแพทย์ 300,000 คน/ปี, 8.ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรลง 60% จากปัจจุบัน

9.ลดปริมาณขยะ 16.5 ล้านตัน/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50 ล้านตันภายใน 10 ปี, 10.ผลักดันให้ไทยติด 1 ใน 3 ของแหล่งท่องเที่ยวในเอเซียแปซิฟิก

ดร.สุวิทย์กล่าวว่าอย่างไรก็ตาม BCG แบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ 1.ด้านการเกษตรและอาหาร เป็นการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างความหลากหลายและความแตกต่าง ต่อยอดผลผลิตไปทำสิ่งใหม่ที่ขายได้แพงกว่า เช่น สารอาหารและสารประกอบมูลค่าสูง คาดว่าจะเพิ่มมูลค่า GDP ด้านอาหารเพิ่มขึ้น 50% จากปัจจุบัน 600,00 ล้านบาทเป็น 900,000 ล้านบาท

2.สุขภาพและการแพทย์ เตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางยาและเวชภัณฑ์ของภูมิภาค (Medical Hub) และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อลดการนำเข้า ยกระดับบริการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน คาดว่าจะเพิ่ม GDP กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ ได้ 100% จากปีละ 40,000 ล้านบาท เป็น ปีละ 90,000 ล้านบาท

3.พลังงานและเคมีชีวภาพ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ในภาคเศรษฐกิจด้านนี้ให้มากขึ้น 160% จากปีละ 95,000 ล้านบาทเป็น ปีละ 260,000 ล้านบาท หวังเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน 30% ในปี 2579 แปรรูปของเสียเป็นเงิน เช่น ผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ โรงไฟฟ้าชุมชน โรงผลิตพลังงานทดแทนในชุมชน ตลอดจนสร้างมูลค่าสินค้าไบโอเคมี อาทิ พลาสติกชีวภาพและไฟเบอร์ เป็นต้น

4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ด้านการท่องเที่ยว 40% คิดเป็นมูลค่า 400,000 ล้านบาท จากเดิมปีละ 1 ล้านล้านบาท เป็น 1.4 ล้านล้านบาท เป็นการพลิกโฉมการท่องเที่ยวด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรและโปโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ตลอดจนผลักดันกิจกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น

ส่วนด้านพื้นที่เป้าหมาย แบ่งเป็น 4 ระเบียงเศรษฐกิจ แบบ 4.0 ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) พัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตร และวัฒนธรรมล้านนาส่งเสริมการท่องเที่ยว ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เน้นการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยีใหม่ เพิ่มรายได้ 900% ให้กับเกษตรกร ตลอดจนเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเมืองปักษ์ใต้ยุคใหม่

ระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน (NEEC) พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ยกระดับสุขภาพคนอีสาน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและปสุสัตว์ ตลอดจนส่งเสริมท่องเที่ยวริมโขง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผลไม้ให้ราคาสูงขึ้น แกนกลางขับเคลื่อนภาคพลังงานแาะเคมีชีวภาพ แหล่งรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่

อย่างไรก็ตามการผลักดันเศรษฐกิจ BCG จะสำเร็จได้ต้องอาศัยกลไกขับเคลื่อนหลายด้าน 1.การปลดล็อคกฎหมาย เช่น พรบ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พรบ.ส่งเสริมประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นต้น 2.การผลิตบุคลากรรองรับ BCG ส่งเสริมทักษะคนในชุมชนและหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการ

3.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ธนาคารชีวภาพ (Bio Bank) และการพัฒนารายพื้นที่ 4.เชื่อมโยงองค์ความรู้และบุคลากรกับประเทศอื่นทั่วโลก รวมถึงการวิจัยค้นหาเทคโนโลยีใหม่

ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่มองเห็นในขณะนี้คือ แนวทางจัดการระบบการขาย (Marketing System) รัฐบาลควรกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมสิ่งใดบ้างเพื่อนำมาหารือทุกภาคส่วน ว่าจะทำได้จริงและเพิ่มรายได้ให่้อระชาชนได้จริงไหม

ตลอดจนดูห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่ละจังหวัดต้องเข้าไปร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาภาคท้องถิ่น โดยมีรัฐสนับสนุนเงินทุน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆรัฐต้องมีความพร้อมด้วย

ขณะที่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ตัวแทนจาก สำนักงานวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่ารัฐบาลต้องจัดระบบ Financial Model ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันการให้ทุนวิจัยพัฒนายังคงเป็นรูปแบบเดิม จึงต้องหารูปแบบใหม่มากระตุ้นผู้พัฒนาเพื่อความคุ้มค่าด้านงบประมาณด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนที่จะมอบทุนให้ต่อเมื่อพัฒนาได้ตามเป้าหมาย เช่น ดูผลก่อนจ่ายทีหลัง

จากเดิมเป็นการให้ทุนตั้งแต่เริ่มต้น รูปแบบนี้เหมาะกับทีมพัฒนาที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและกลุ่มเอกชนรายใหญ่ ตลอดจนคิดแคมเปญแจกทุนแบบแข่งขัน เช่น การตั้งผลลัพธ์ขึ้นมา อาทิ เครื่องผลิตน้ำดื่มจากอากาศ แล้วเปิดให้ทุกฝ่ายแข่งขันออกแบบนวัตกรรมดังกล่าวขึ้นมา เพื่อชิงรางวัลเงินทุน