posttoday

"บำรุงราษฎร์" เปิดตัว "ศูนย์ลิ้นหัวใจ" รับอนาคตประชากรไทย ขยายตัวสู่สังคมผู้สูงวัย

16 พฤศจิกายน 2562

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เตรียมความพร้อมอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ คาดในปี 2564 มีผู้อายุเกิน 60ปี เกิน 20%ของประชากร เสี่ยงป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เตรียมความพร้อมอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ คาดในปี 2564 มีผู้อายุเกิน 60ปี เกิน 20%ของประชากร มีความเสี่ยงป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง

จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกิน10% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น "สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 20%

โดยตัวเลขของประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

นายแพทย์วิญญู รัตนไชย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เล็งเห็นแนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมพร้อมในการรองรับปัญหาสุขภาพที่เกิดในกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในผู้สูงวัยในลำดับต้นๆ

ขณะที่สถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่ามีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คน ต่อปี คิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 48 คนต่อวัน หรือ ชั่วโมงละ 2 คน และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสถานการณ์ความแออัดของห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ต้องเร่งช่วยกันป้องกันและแก้ไขให้ได้อย่างเร็วที่สุดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคหัวใจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

นายแพทย์วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต แพทย์ที่ปรึกษาผู้อำนวยการปฏิบัติการทางการแพทย์ และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าโรคหัวใจ นับเป็นภัยเงียบที่อาจไม่มีอาการหรือสัญญาณบ่งชี้ชัดเจน ผู้ป่วยจึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพหัวใจ

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก บางครั้งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ โดยโรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคลิ้นหัวใจเอเออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis) โรคหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ภาวะหัวใจเต้นช้า และหัวใจล้มเหลว

ปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีศูนย์รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ และล่าสุด ศูนย์ลิ้นหัวใจ โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่ตรงจุดและด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับอาการของโรคในแต่ละบุคคล

นายแพทย์ วัธนพล พิพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ลิ้นหัวใจ ให้ข้อมูลระบบการทำงานของหัวใจว่า ลิ้นหัวใจเอออร์ติก เปรียบเหมือนวาล์วน้ำที่กั้นปั๊มน้ำกับท่อเมน และเมื่อสูงอายุขึ้น ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ก็มีโอกาสตีบจากการมีหินปูนเกาะสะสมหรือเกิดจากการเสื่อมถอยของอายุ ที่สำคัญอาการลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มีปัจจัยจาก ความชราของร่างกาย

ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน หรือ ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรได้รับการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram หรือ echo)

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้จัดตั้งศูนย์ลิ้นหัวใจซึ่งมีความพร้อมในด้านบุคลากรที่จะให้บริการอย่างครอบคลุมเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีอาการโรคดังกล่าว รวมถึงเทคนิค TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจไม่ต้องผ่าตัดช่องอก เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน ผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป