posttoday

ส.อ.ท. ผนึกมณฑลกวางตุ้งเชื่อมการค้าไทย-จีน ดึงลงทุนอีอีซี

14 พฤศจิกายน 2562

ส.อ.ท.ลงนามกับ CCPIT แลกเปลี่ยนข้อมูลรอบด้าน เสิร์ฟนักลงทุนไทย-จีน สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล

ส.อ.ท.ลงนามกับ CCPIT แลกเปลี่ยนข้อมูลรอบด้าน เสิร์ฟนักลงทุนไทย-จีน สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (China Council for the Promotion of International Trade Guangdong Committee: CCPIT)  โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจระหว่างกัน  และส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่ออนาคต รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว ครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้มณฑลกวางตุ้งมีศักยภาพทางนวัตกรรม มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 3 แห่ง คือ เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ และเมืองซัวเถา มีบทบาทอย่างมากในกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง(PRD)และยังเป็นศูนย์กลางของ งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ Canton Fair อีกด้วยและหวังว่าการที่คณะ CCPIT มาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน

ปัจจุบันไทยกับมณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 4 ของการค้ารวมระหว่างไทย-จีน และยังมีการสอดคล้องกันในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน โดยประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านกายภาพและบุคลากร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และเชื่อมโยงกับเส้นทาง BRI ของจีน และ Greater Bay Area (ฮ่องกง มาเก๊า และมณฑลกวางตุ้ง) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ของจีน อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยง Supply Chain ของสินค้าและบริการในภูมิภาค

ด้านนายวีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรม ไทย-จีน สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้มีการจัดตั้ง สถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังช่วยประสานงาน ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างกันอีกด้วย