posttoday

"สุริยะ" โชว์ผลงาน "99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว" ชู 5 ประเด็นหลัก

31 ตุลาคม 2562

สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากปัญหาสงครามการค้า ลดขั้นตอนเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ฯ ดูแลประชาชน สอดรับนโยบายรัฐบาล ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย 4.0

สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากปัญหาสงครามการค้า ลดขั้นตอนเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ฯ ดูแลประชาชน สอดรับนโยบายรัฐบาล ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย 4.0

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมทุกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยในช่วง 99 วันที่ผ่านมา ได้ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริม Ease of Doing Business, การส่งเสริม Made in Thailand เป็นต้น และตอบโจทย์ของประชาชนในพื้นที่ เช่น การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสามารถจัดกลุ่มผลงานออกมาเป็น 5 เรื่องหลัก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สอดรับกับข้อเสนอภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม และประชาชน เริ่มจาก
1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริม Made in Thailand โดยบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างใกล้ชิด โดยได้ดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ การเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยที่ผ่านมา ได้นำคณะเยือนประเทศเวียดนาม (30 ส.ค.62 – 1 ก.ย.62) เพื่อหารือนโยบายส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม จากนั้นได้นำคณะเยือนประเทศญี่ปุ่น (24 - 28 ก.ย.62) เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมระหว่างกัน

โดยได้เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ METI ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ เพื่อหารือด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และแลกเปลี่ยนแนวคิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมิตซูบิชิมีแผนที่จะขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ในไทยภายในปี 2563

"ผมและท่านรองนายกรัฐมนตรี(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (21-25 ต.ค. 2562) เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ดิจิทัล นวัตกรรม และการสนับสนุน Start up กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนจีนและฮ่องกงมาลงทุนหรือขยายการลงทุนในพื้นที่ EEC และพื้นที่การลงทุนเป้าหมายของไทยโดยเฉพาะในช่วงของTrade war นี้" นายสุริยะ กล่าว

ร่วมกับบีโอไอ จัดทำกรอบและแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุน เพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย ใช้ชื่อโครงการว่า "Thailand Plus Package" เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจแก่นักลงทุน และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562
โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดเตรียมและจัดหาที่ดินสำหรับ นักลงทุน ซึ่งได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ประมาณ 6,466 ไร่

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ โดยดำเนินการพัฒนานิคมในพื้นที่ EEC ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักโครงการแรก 1 ใน 5 Mega Project List ในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่

โดยได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด มูลค่าโครงการประมาณ 47,900 ล้านบาท โดยหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติและสินค้าด้านปิโตรเคมีได้เพิ่มอีกประมาณ 14 ล้านตันต่อปี

3. การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยการนำระบบ i-Industry มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ ในรูปแบบ One Stop Service และเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียวทั้งกระทรวงฯ เช่น ระบบการขอใบอนุญาต รง.4 ออนไลน์ ระบบการขอใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ระบบการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะของการดำเนินงานได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มให้บริการทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 5,000 ราย นอก
จากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้พัฒนาระบบE-licenseเพื่ออำนวยความสะดวกโดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ต้องเดินทางมาที่สถานที่ราชการ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อาทิ การขอใบอนุญาตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) รวม 9,350 ฉบับ ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่าตัว

4. ทะลวงอุปสรรค ลดขั้นตอนผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ในการเข้าถึงสินเชื่อโดยได้ดำเนินโครงการ “สินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน” ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจเกษตรแปรรูป (Agro Industry) ประเภทอาหาร และที่ไม่ใช่อาหาร

กลุ่มผู้ผลิต หรือออกแบบในธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) และ กลุ่มธุรกิจที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงกิจการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (Digital Transformation) ทั้งนี้ ผมได้สั่งการลดขั้นตอนการขอสินเชื่อจากปกติที่ต้องใช้ระยะเวลา 3 เดือน เหลือเพียงไม่ถึง 1 เดือน เท่านั้น โดยสามารถยื่นคำขอสินเชื่อได้ที่อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2562 ผมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท ให้เสร็จสิ้นในระยะเวลา 3 เดือน

5. การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในการใช้สินค้าต่างๆ จึงดำเนินการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 244 เรื่อง เพิ่มขึ้นถึง 495 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งมีการประกาศมาตรฐาน เพียง 41 เรื่อง

นอกจากนี้จากเหตุการณ์อุทกภัยพายุโพดุล กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรการเร่งด่วน 7 มาตรการ โดยได้ลงพื้นที่ภาคอีสาน 4 จังหวัด ทำทันที ซ่อมสร้าง ฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชนและ ผู้ประกอบการกิจการโรงงานเอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจ ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักรให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 3 ปี