posttoday

ดันระบบบัตรเครดิตจ่ายค่ารถไฟฟ้าตัดยอดรายเดือน

31 ตุลาคม 2562

'คมนาคม' วางเป้าใช้บัตรระบบ EMV เดือน เม.ย. ปีหน้า พร้อมผุดไอเดียบัตรเดียวเที่ยวรถไฟฟ้าได้ทุกสาย ด้่าน BTS จ่อกินรวบระบบตั๋วร่วม-ส่อไม่ยกเว้นค่าแรกเข้า 14-16 บาท

'คมนาคม' วางเป้าใช้บัตรระบบ EMV เดือน เม.ย. ปีหน้า พร้อมผุดไอเดียบัตรเดียวเที่ยวรถไฟฟ้าได้ทุกสาย ด้่าน BTS จ่อกินรวบระบบตั๋วร่วม-ส่อไม่ยกเว้นค่าแรกเข้า 14-16 บาท

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) ในขณะนี้ติดปัญหาความล่าช้าเรื่อง บัตร EMV (Euro/ MasterCard และ Visa) เพื่อเป็นการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสดหรือเติมเงินเข้าบัตร แต่เป็นการตัดเงินปลายเดือนเหมือนบัตรเครดิตทั่วไป

โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคม ตั้งเป้าเริ่มใช้ระบบนี้ในเดือน เม.ย. 2564 หรือ 18 เดือน นับจากนี้ จากเดิมมีกำหนดการเริ่มใช้บัตรระบบ EMV ในช่วงปลายปี 2562 โดยในต่างประเทศพบว่ามีผู้โดยสารใช้ระบบนี้กันอย่างแพร่หลาย มีสัดส่วนการใช้บัตร EMV อยู่ที่ 70% และบัตรปกติ 30%

อย่างไรก็ตาม การนำระบบดังกล่าวมาใช้ ถือว่าเป็นนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้คนไทย เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยใช้บัตรเครดิตและธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Money) จำนวนมาก แบ่งเป็นจำนวนบัตรเครดิตจำนวน 90 ล้านใบ และการใช้ E-money ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านครั้ง จึงเชื่อว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนไทยหันมาใช้ระบบนี้ได้ไม่ยาก

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่าในช่วงระหว่างการพัฒนาบัตร EMV นั้น กระทรวงคมนาคมจะผลักดันให้บัตรโดยสารรถไฟฟ้าได้ก่อน เช่น Rabbit Card ของบีทีเอส และ MRT Card ของรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงบัตรของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ใช้ร่วมกันได้ก่อน

เช่น การใช้ Rabbit Card ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย หรือการใช้ MRT Card ขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย แต่ต้องเติมเงินกับเคาน์เตอร์ที่เป็นเจ้าของบัตร

ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานและเอกชนไปสรุปข้อมูลร่วมกันก่อนกลับมาเสนอ รูปแบบ ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการพัฒนา เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาราว 6 เดือน โดยให้รถไฟฟ้าแต่ละสายไปพัฒนาเครื่องอ่านบัตร (Reader) เพื่อให้รองรับบัตรได้ทุกระบบ ปัจจุบันมีบัตรทั้งหมดราว 20.2 ล้านใบ

แบ่งเป็น Rabbit Card 18 ล้านใบ MRT Card 2 ล้านใบ และบัตรแมงมุม 2 แสนใบ ส่วนระบบขนส่งอื่นต้องรอไปก่อน

"แนวทางดังกล่าวเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะสามารถใช้บัตรเดิมไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นได้เลยโดยไม่ต้องทิ้งไป ถือว่าเป็นระบบตั๋วร่วมแล้ว ส่วนบัตร EMV ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา" นายชัยวัฒน์กล่าว

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การปรับรูปแบบมาใช้ระบบบัตรเดิมเชื่อมตั๋วร่วม จะส่งผลให้ บีทีเอส ได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากไม่ต้องทิ้งบัตรแรบบิท ซึ่งมีผู้ใช้และวงเงินหมุนเวียนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งยังสามารถขยายโครงข่ายบัตรแรบบิทที่มีสัดส่วน 90% ของบัตรทั้งหมดเป็นการกินรวบ เนื่องจากหากเงินเข้าไปอยู่ที่ใครเยอะ ก็จะได้ค่าดอกเบี้ยไปด้วย รวมถึงตัวเลขรายได้ค่าโดยสาร  อีกทั้งยังสามารถดึงผู้ใช้จากบัตรอื่นให้มาใช้ Rabbit Card ได้อีกด้วยเนื่องจากมีข้อเสนอส่วนลดตั้งแต่รถไฟฟ้า ร้านอาหาร โรงแรมไปจนถึงห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ตามการพัฒนาตั๋วร่วมเพื่อยกเว้นค่าเข้าในการเดินทางหลายสายและลดภาระค่ารถไฟฟ้าให้ประชาชนนั้น ขณะนี้เอกชนอย่างบีทีเอส ยังคงมีปัญหาไม่ยอมลดค่าแรกเข้า 14-16 บาท เมื่อเปลี่ยนสายรถไฟฟ้า เท่ากับว่าประชาชนต้องเสียค่าแรกเข้าสองครั้ง เมื่อเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า ด้วยการอ้างว่าติดเรื่องสัญญาสัมปทานที่ไม่สามารถลดได้

ขณะที่รถไฟฟ้าสายอื่นมีการยกเว้นค่าแรกเข้าไปหมดแล้ว ดังนั้นมองว่าการเจรจาเรื่องนี้กับบีทีเอสเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและแทบเป็นไปไม่ได้