posttoday

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP: แรงกดดันระลอกใหม่

31 ตุลาคม 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุธุรกิจไทย จำเป็นต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนต่อจากนี้ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยหลักเหนี่ยวรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 ยังอ่อนไหวต่อเนื่องจากปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุธุรกิจไทย จำเป็นต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนต่อจากนี้ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยหลักเหนี่ยวรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 ยังอ่อนไหวต่อเนื่องจากปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลวิจัยระบุว่า การที่สหรัฐฯ ลดทอนสิทธิ GSP ที่ให้แก่สินค้าไทยบางรายการในครั้งนี้ มองว่า ส่งผลต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด

เนื่องจากสินค้าในรายการที่ถูกตัดสิทธิมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.1 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ขณะที่ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเด็นการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยหลักที่เหนี่ยวรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2563 อ่อนไหวต่อเนื่องจากปีนี้

อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องคงต้องเผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ในอัตรา MFN แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจไทยในภาพรวมค่อนข้างจำกัด

เนื่องด้วยสินค้าส่วนใหญ่ เผชิญอัตราภาษีไม่สูงและสินค้าไทยค่อนข้างแข็งแกร่งในตลาดสหรัฐฯ แต่น่าจะมีส่วนทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในการทำตลาดมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทหลอดไส้ (ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า) แว่นตา ตัวจุดระเบิดไฟฟ้า อาหารแปรรูปบางประเภทและอ่างสุขภัณฑ์เซรามิก ขณะที่ ในบางสินค้าที่มีความเสี่ยงสูญเสียตลาดสหรัฐฯ เป็นการถาวร
เนื่องจากผลทางภาษีที่เปลี่ยนไปอย่างมากและความสามารถในการทำตลาดของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อาทิ เครื่องประดับบางประเภท ตะกั่วและเคมีภัณฑ์ ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมากก่อนจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563

ดังนั้น โจทย์สำคัญของไทยคงไม่ได้อยู่ที่การรักษาสิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษทางการค้ากับนานาชาติเท่านั้น แต่ควรพุ่งเป้าไปที่การยกระดับสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก